ผ่าปัญหา…ปฏิรูปสื่อ

ประชาสังคมต้องเข้มแข็ง

 

          ในฐานะที่ “สื่อ” ตกเป็นจำเลยสังคม หรือจะเป็นเพราะเหตุผลที่ทุกฝ่ายลงความเห็นว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตปัญหาความแตกแยก เลือกข้างในบ้านเราตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ “สื่อ” ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยได้ก็ตาม

ผ่าปัญหา…ปฏิรูปสื่อ

 

          แต่…ผมเชื่อว่า คนทีมีอาชีพเกี่ยวกับ “สื่อ” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ มีความเห็นที่แตกต่างกันครับ

 

          แม้…อาจจะยังไม่มีผลสำรวจที่แน่ชัดว่า ความเห็นที่แตกต่างของสื่อเกี่ยวกับการปฏิรูปนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยเวทีสาธารณะในหัวข้อ “ปฏิรูปสื่อ : ผ่าปัญหา…คว้าทางออก” เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็บอกนัยที่น่าสนใจ

 

          เวทีดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถาบันอิศรา หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั่นเอง

 

          นัยที่น่าสนใจจากเวทีสาธารณะดังล่าว นอกจากถ้อยแถลงที่บรรยายว่า..เพื่อให้การขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ของสังคมนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ สี่องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงได้จัดทำแผนงานการปฏิรูปสื่อมวลชนภาครัฐ การพัฒนาสื่อเอกชน โดยให้มีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาและใช้ชื่อว่า  “คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” หรือ คพส.โดยประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค…แล้ว

 

          เนื้อหาจากผู้ร่วมเสวนา “โดนใจ” เป็นกรณีพิเศษครับ

 

          อาทิ นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร ตัวแทนคณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ ระบุว่า ความทันสมัย และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ทลายกำแพงการผูกขาดความคิดไปหมดแล้ว วันนี้มีหมาเฝ้าบ้านเต็มบ้านเต็มเมือง เกิดสื่อภาคพลเมือง หรือ social media มากมาย ฉะนั้นการกำกับสื่อไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะกับสื่อออนไลน์ ทางที่เป็นไปได้ดีที่สุดคือ ต้องให้สังคมกำกับกันเอง

 

          เฉกเช่นเดียวกับข้อคิดเห็นของ นายจักรกฤษ เพิ่มพูน ตัวแทนคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชน กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า ไม่มีความจำเป็น และไม่มีจุดต้องไปปฏิรูป เนื่องจากสื่อปฏิรูปตัวเองทำอยู่ตลอดเวลา แต่หากจะพูดถึงการปฏิรูปสื่อ ประเด็นสำคัญ น่าจะเริ่มที่ปฏิรูปความรู้

 

          ส่วน นางสาวเข็มพร วิรุฬราพันธ์ ตัวแทนคณะทำงานพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เห็นว่า การปฏิรูปสื่อนั้นต้องหันมามองภาคประชาชนด้วย ต้องสร้างการมีส่วนร่วมตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อ เพราะการไม่เท่าทันสื่อเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ประชาชนแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือสื่อแท้สื่อเทียม

 

          นัยสำคัญ จากความคิดเห็นบนเวทีสาธารณะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อให้เดินควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศไทยที่ผมหยิบยกเป็น “น้ำจิ้ม” นี้ ก็เพราะข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ กับความคาดหวังนั้นบางครั้งก็ต้องหาทางออกที่ลงตัวให้ได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมครับ

 

          ทางออกของการปฏิรูปสื่อ ที่สามารถปฏิบัติได้ ไม่ว่ายุคสมัยไหน ก็คือ ประชาสังคมจะต้องเป็นผู้ติดตาม ตรวจสอบ “สื่อ” ว่าได้ทำหน้าที่สมควรแก่การเรียนขานว่า สื่อสารเพื่อมวลชนหรือไม่

 

          สรุปแบบนี้ จะบอกว่า ผมโยนภาระความรับผิดชอบการปฏิรูปสื่อให้กับผู้บริโภคนั้น..จะว่าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงครับ

 

          เพราะคุณภาพของนักการเมือง ก็มาจากคุณภาพของคนที่เลือกเขาเข้าไปบริหารบ้านเมือง

 

          คุณภาพของคน ก็มาจากระบบการศึกษา การเรียนการสอน การอบรมดูแลของครอบครัว

 

          แล้วคุณภาพของสื่อ จะมีเครื่องมือใดเป็นผู้กำกับกันเล่า หากไม่ใช่ผู้บริโภคสื่อ

 

          จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผมกล้าฟันธงว่า การตรวจสอบกันเองระหว่าง “สื่อ” ประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่าให้อำนาจรัฐยื่นมือเข้ามาแทรกแซงหรือควบคุม ตราบเท่าที่เรายึดมั่นในหลักการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ว่า ..เสรีภาพของสื่อ หมายถึงเสรีภาพของประชาชน

 

          ฉะนั้น ข้อเสนอแนะของตัวแทนภาคประชาสังคมเฝ้าระวังสื่อ ขอให้ คพส.สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อตามวัตถุประสงค์ของการมี คพส. จึงเป็นเรื่องที่พึงกระทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการที่อยากเห็นองค์กรอิสระมีสถานภาพทางกฎหมายเป็นที่ยอมรับ มาทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบสื่อ มีแหล่งที่มาของเงินทุนสนับสนุนที่แน่นอน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ มีการจัดการความรู้ ศึกษาวิจัย เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ เพื่อสร้างกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน และเป็นการสร้างพลังประชาสังคมเข้มแข็ง ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าที่จะไปแหงนคอรอคอยว่า สื่อจะมีจิตสำนึกปฏิรูปตัวเองเมื่อไหร่ และอย่างไร

 

          ผมเชื่อครับว่า ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน สื่อไม่อาจจะยื่นอยู่ได้ หากผู้บริโภคไม่ไว้วางใจ ไม่พึงพอใจ เพราะสื่อเองก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ที่ต้องได้รับแรงเกื้อหนุนจาก “ท่อน้ำเลี้ยง” ของประชาชน

 

          สรุปแล้วสรุปอีกก็ต้องยืนยันนอนยันว่า สื่อต้องปฏิรูปตนเองตลอดเวลาอยู่แล้ว มิเช่นนั้นจะทำหน้าที่การเป็นสื่อไม่สมบูรณ์แบบ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และไม่ทันต่อกาลเวลาที่หมุนเปลี่ยนไม่เคยหยุดนิ่ง แต่จะให้การปฏิรูปของสื่อถูกใจประชาชนและเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนหรือไม่นั้น ประชาสังคมคือผู้กำหนดครับ

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นายใฝ่ฝัน…ปฏิรูป

 

 

 

 

Update : 30-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code