“ผู้หญิง” กำลังจะตายเพราะบุหรี่!

ทำอายุสั้นลง 12.6 ปี 

 

“ผู้หญิง” กำลังจะตายเพราะบุหรี่!ดูเหมือนว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดจาก บุหรี่ จะยังไม่หมดสิ้นไปจากสังคมไทย เพราะจากการสำรวจของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยังพบว่า มีประชาชนที่เสพติดบุหรี่อยู่ถึง 10.8 ล้านคน เป็นชายกว่า 10 ล้านคน เป็นหญิงถึงกว่า 5 แสนคน เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างชายสูบบุหรี่และหญิงสูบบุหรี่ จะเท่ากับ 20 : 1…แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชาย แต่ก็มีแนวโน้มว่าผู้หญิงจะหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น!

 

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงเสพติดบุหรี่มากขึ้นนั้นมาจากการที่บริษัทบุหรี่พยายามใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อขยายตลาดเจาะกลุ่มผู้หญิงโดยตรง เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังขยายได้อีกมาก ที่สำคัญทำสำเร็จมาแล้วในประเทศส่วนใหญ่ โดยขณะนี้วัยรุ่นหญิงในยุโรปและอเมริกามีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าวัยรุ่นชาย และอัตราการสูบบุหรี่ของชายต่อหญิง เท่ากับ 1 : 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมไทยที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้หญิงไทยสูบบุหรี่มากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ

 

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่า ในแต่ละปี มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 5,793 คน ซึ่งการสูบบุหรี่ยังพบว่า ทำให้อายุขัยของผู้หญิงสั้นลง 12.6 ปี ปัจจัยหลักที่เอื้อให้ผู้หญิงไทยหันมาทำร้ายตนเอง ริลองสูบบุหรี่ มาจากการที่มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสสูบบุหรี่ถึง 18 เท่า ของคนที่มีเพื่อนไม่สูบบุหรี่ หากมีทัศนคติเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่ที่เห็นว่า ดูดี โก้เก๋ ก็จะมีโอกาสสูบบุหรี่ 7 เท่า และถ้าแม่สูบบุหรี่ ก็จะทำให้ลูกมีโอกาสสูบบุหรี่ถึง 4 เท่า!!! โดยเยาวชนหญิงที่มีแม่หรือพี่สาวสูบบุหรี่จะมีโอกาสที่จะสูบบุหรี่สูงกว่าการที่มีพ่อสูบบุหรี่ เนื่องจากเยาวชนมักได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากบิดามารดาและเพื่อน และในเยาวชนที่สูบบุหรี่จะพบว่า มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ มากขึ้น อาทิ การดื่มเหล้า การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ การเที่ยวกลางคืน อีกด้วย ศ.นพ.ประกิต เล่าด้วยความเป็นห่วง

 

ด้าน รศ.ธราดล  เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการวิจัยพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงไทย ในปี พ.ศ. 2551 ที่สำรวจในกลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 1325 ปี จำนวน 3,093 คน พบว่า วัยรุ่นหญิงเริ่มสูบบุหรี่อายุต่ำกว่า 12 ปี เท่ากับร้อยละ 10.2 และเริ่มสูบอายุระหว่าง 12-13 ปี เท่ากับร้อยละ 21.2  โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเริ่มสูบอายุต่ำกว่า 12 ปี มากถึงร้อยละ 16.9  และร้อยละ 42.1 สูบเกือบทุกวัน  นอกจากนี้ วัยรุ่นหญิงร้อยละ 92.4 รับรู้ว่า คนสูบเป็นมะเร็งปอด และฟันเหลือง ร้อยละ 84.9 ส่วนคนไม่สูบแต่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะเป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 91.6 และถุงลมโป่งพอง ร้อยละ 84.0

 

ไม่เพียงเท่านี้ ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังออกมาเปิดเผยว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคร้ายต่างๆ มากขึ้น โดยมีโอกาสเสียชีวิตในวัยกลางคนถึงร้อยละ 50 และอายุเฉลี่ยจะสั้นลงประมาณ 10 ปี โอกาสเกิดมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจวาย และเส้นเลือดในสมองตีบจะเพิ่มมากกว่าคนปกติอย่างมาก

 

การสูบบุหรี่จะทำให้ผู้หญิงแก่ก่อนวัย มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและใบหน้า โดยมีรอยย่นมากขึ้น ริมฝีปากคล้ำ มีปัญหาโรคช่องปาก โรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่พบว่า จะมีโอกาสตั้งครรภ์ช้าหรือไม่มีบุตรมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า ส่วนผู้หญิงที่รับควันบุหรี่มือสอง ก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพมากเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ในผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงอื่นๆ และมีโอกาสเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรสูงขึ้น

 

เพื่อเป็นการเตือนสติบรรดาสาว ๆ ที่กำลังจะกลายเป็นสิงห์อมควัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีข้อมูลที่น่าตกใจมาบอกว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีแต่โรคมารุมเร้าให้รำคาญใจอยู่เสมอ โดยมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10 เท่า และมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นอย่างมาก โดยพบว่า หญิงสูบบุหรี่จะเกิดอาการหัวใจล้มเหลวมากกว่าหญิงที่ไม่สูบ 2-6 เท่า พร้อมทั้งมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายกะทันหันเพิ่มขึ้น 20 เท่า และความเสี่ยงนี้จะทวีขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน!

 

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 4 เท่า เพราะการสูบบุหรี่ ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง มีผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสแปปปิวโลมาได้ง่าย ซึ่งปากมดลูกที่ติดเชื้อไวรัสนี้ จะมีอัตรากลายเป็นมะเร็งปากมดลูก และมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วถึงร้อยละ 25 เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมลดลง ทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น

 

ความน่ากลัวยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้หญิงทั่วไปอีก 1 เท่า เพราะนิโคตินไปทำลายกล้ามเนื้อที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อสูบบุหรี่เข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนตัวลง ผู้ที่สูบบุหรี่จึงมีโอกาสกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือในกรณีผู้หญิงที่สูบบุหรี่และรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ ก็มีโอกาสเกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันหรือหัวใจวายสูงขึ้น 39 เท่า และมีอัตราการตายมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ที่กินยาคุมกำเนิดถึง 3 เท่าตัว เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษที่ทำปฏิกิริยากับยาคุมกำเนิด มีผลให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้น และเกิดการอุดตันของหลอดเลือดง่ายขึ้น โดยเฉพาะเส้นเลือดที่จะเลี้ยงหัวใจและสมอง สำหรับผู้หญิงที่ใช้ห่วงคุมกำเนิด ก็จะมีโอกาสที่เสี่ยงต่อการอักเสบของอุ้งเชิงกรานมากขึ้นอีกด้วย!

 

ส่วนสาว ๆ คนไหน ที่วางแผนจะมีทายาทตัวน้อย ๆ ไว้สืบสกุล แต่ยังไม่เลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ สสส. ก็ขอให้เปลี่ยนพฤติกรรมซะ เพราะจากการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจประชากรหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วสูบบุหรี่ ในปี พ.ศ.2550 พบว่า หญิงตั้งครรภ์กว่า 17,000 คน สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำเช่นนี้ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งพบว่า มารดาจะมีโอกาสแท้งบุตรเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า มีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะต่ำ คลอดก่อนกำหนด เด็กในครรภ์มีการเติบโตช้า และทารกมีโอกาสเสียชีวิตในขณะแรกคลอดสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการได้รับสารพิษจากบุหรี่ที่จะถ่ายทอดจากกระแสเลือดของแม่ผ่านทางรกมายังทารกโดยตรง และหลังจากคลอดแล้ว ทารกที่ได้รับควันบุหรี่ขณะที่อยู่ในครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันได้มากขึ้นในช่วงปีแรกของชีวิต และมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นถ้าเด็กยังได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมหลังคลอด

 

สำหรับคุณแม่คนไหนที่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ยังสูบบุหรี่อยู่ รู้ไว้ซะด้วยว่า นิโคตินที่แม่ได้รับจากควันบุหรี่จะขับออกทางน้ำนมได้ และทำให้เด็กได้รับนิโคตินจากนมแม่ด้วย และในเด็กหลังคลอดที่ได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และภาวะติดเชื้อในหูบ่อยขึ้น มีโอกาสเป็นโรคหอบหืดและโรคภูมิแพ้มากขึ้นอย่างชัดเจน

 

แต่!ถ้าคุณเลิกบุหรี่ตั้งแต่วันนี้ ภายใน 20 นาที ความดันเลือดและชีพจรของคุณจะเต้นในระดับปกติ 24 ชั่วโมง ปอดจะเริ่มขจัดเสมหะและสิ่งสกปรกต่าง ๆ อันเกิดจาการสูบบุหรี่ออกจากร่างกาย 1 สัปดาห์ เลือดในร่างกายจะไหลเวียนสู่แขนขาได้ดีขึ้น คุณสามารถที่จะออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่ 3-9 เดือน ระบบหายใจดีขึ้น เพราะปอดทำงานได้ตามปกติ 5 ปี อัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง 10 ปี อัตราการเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพียงเท่านี้ คุณก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง รูปร่างดี ใบหน้าสวยใส

 

จะเห็นได้ว่า ผลจากการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ก็ล้วนแล้วแต่เกิดความเสียหายให้ตนเองและคนรอบข้าง เลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่บุหรี่จะทำร้ายคุณและคนที่คุณรัก

 

มาร่วมสร้างค่านิยมใหม่ ผู้หญิงยุคใหม่ เท่ห์ได้ โดยไม่พึ่งพาบุหรี่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th

ที่มาข้อมูล : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

 

Update 26-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code