ผู้หญิงฮิตเจาะ….แฟชั่นเสี่ยงภัย

ละเลยความสะอาดเพิ่มโอกาสติดเชื้อ

ผู้หญิงฮิตเจาะ….แฟชั่นเสี่ยงภัย 

        แฟชั่นการเจาะเริ่มต้นจากความสวยความงามของผู้หญิงเราที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ นิยมเจาะหูไว้ส่วมใส่เครื่องประดับประเภทต่างหู แต่ในปัจจุบันวัยรุนหญิงยุคใหม่ ทั้งไทยและต่างประเทศกลับนิยมหันมาเจาะอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายเป็นกระแสแฟชั่น

 

        จากผลสำรวจวัยรุ่นอเมริกายุคใหม่ พบ นักเรียนหรือนักศึกษาวัยรุ่นนิยมเจาะลิ้น เจาะปาก เจาะสะดือ เจาะใบหูตอนบน แถมเจาะร่างกายส่วนอื่นๆกันมากขึ้นเพราะรู้สึกดีเวลาอยู่ในกลุ่มของเพื่อนฝูงที่เจาะร่างกายมาเหมือนๆ กัน พวกเขารู้สึกว่าเป็นแฟชั่นเก๋มากกว่าแค่การเจาะติ่งหู

 

        โดยพฤติกรรรมการใช้บริการเจาะขึ้นอยู่กับแรงจูงใจที่ส่วนมากทำตามกลุ่มเพื่อน เลือกใช้บริการเจาะหูตามร้านค้าที่เปิดให้บริการ ที่แต่ละร้านมีกลยุทย์เรียกลูกค้าด้วยวิธีการเสนอเจาะให้ฟรี แต่มีข้อแม้ต้องซื้อต่างหูหรืออุปกรณ์ขยายรูหูที่ร้านเสียก่อน ซึ่งสาวๆส่วนมากมักเริ่มที่อวัยวะส่วนหูเจาะผ่านกระดูกอ่อนเป็นช่องบริเวณใบหูด้านบนและติ่งหู ขนาดรูจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่การเลือกขนาดต่างหูที่ต้องการใส่ เป็นที่มาของการระเบิดหูในกลุ่มวัยรุ่นที่ปัจจุบันหันมานิยมเจาะหูให้มีรูใหญ่กว่าปกติจนเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงใส่ตุ้มหูที่ต้องการ

   

เท่านั้นยังไม่พอ!!กระแสแฟชั่นฮิตเจาะยังรุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเจาะลิ้น ปาก คิ้ว สะดือ หัวนม ไม่เว้นแม้แต่จุดลับของผู้หญิง โดยแผลบริเวณหัวนมและสะดือรวมไปถึงอวัยวะเพศหญิงนี้จะหายช้ากว่าส่วนอื่น เนื่องจากการเคลื่อนไหวเสียดสีกับเสื้อผ้าทำให้เกิดการอักเสบและอับชื้นจากเครื่องประดับที่ใส่ไว้ สำหรับการเจาะผิวหนังในช่องปากจะมีเลือดออกมากโดยเฉพาะบริเวณลิ้นถ้าเจาะถูกหลอดเลือดขนาดใหญ่จะยิ่งทำให้สูญเสียเลือดมากขึ้นด้วย

 

ผู้หญิงฮิตเจาะ….แฟชั่นเสี่ยงภัย 

 

            นอกจากนี้การเจาะลิ้นยังทำให้เกิดเลือดคั่งหลังเจาะ บางครั้งแผลบวมเจ็บปวดมากทำให้รับประทานอาหารไม่สะดวก น้ำลายออกมาก การดูแลแผลจะยุ่งยากเกิดปัญหาระยะยาว คือเครื่องประดับ
ที่ใส่ลิ้นจะกระทบกับฟันทำให้ฟันสึกบิ่นหรือหัก บางรายอาจทำให้ ้รากฟันตาย อีกทั้งการใส่ตุ้มประดับในช่องปากยังเป็นที่หมักหมมของเศษอาหารทำให้เกิดการอักเสบ มีกลิ่นปาก พูดไม่ชัด เกิดปัญหาในการสื่อสารกับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากที่พบสูงกว่าการเจาะผิวหนังบริเวณอื่น

 

            ผลเสียของการเจาะหูก็มีเช่นกัน จำได้ว่าสมัยที่ยังเป็นนักเรียน เพื่อน ๆ หลายคนชอบเจาะหูกันเอง โดยใช้น้ำแข็งมาแปะที่หูให้ชา ไม่ก็ใช้ยาหม่องนวดจนร้อน แล้วใช้ต่างหูเงินเช็ดแอลกอฮอล์จิ้มเข้าไปในหู มีบางคนใช้เข็มเย็มผ้าร้อยด้ายเป็นอุปกรณ์เจาะหูแล้วปล่อยด้ายทิ้งคารูเจาะไว้ จากนั้นไม่นานเพื่อนสาวร่วมห้องก็มีอาการแผลอักเสบและน้ำเหลืองไหลสุดท้ายทนไม่ไหวต้องไปพบแพทย์ในที่สุด

 

            สอดรับกับสมาคมแพทย์อเมริกันที่ออกมาเตือนวัยรุ่นฮิตเจาะทั้งหลายว่า การเจาะหูที่ทำโดยบุคคลที่ไม่มีความรู้ความชำนาญทางด้านการแพทย์ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เพราะถ้าเครื่องมืออุปกรณ์ในการเจาะไม่สะอาดพอ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและติดเชื้อโรคที่ติดต่อทางเลือดได้         

 

            เริ่มตั้งแต่ โรคตับอักเสบ ผลจากการใช้เข็มร่วมกันเสี่ยงรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค ผู่ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นบริเวณตับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย บางรายมีไข้ต่ำๆ คลื่นใส้ และอาเจียน บางรายตัวเหลื่อง ตาเหลือง โดยโรคตับอักเสบ ต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อดูอาการของตับ เพื่อให้ทราบถึงตัวเชื้อต้นเหตุ ตามมาด้วยโรคเอดส์ โรคร้ายทำร้ายคุณภาพชีวิตผลจากการได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ติดมากับอุปกรณ์เจาะ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอและมีโอกาสเป็นโรคภัยอื่นๆตามมา เช่น โรคมะเร็งมะเร็งหลอดเลือด เป็นต้น

ผู้หญิงฮิตเจาะ….แฟชั่นเสี่ยงภัย

 

            มีข้อควรระวัง!!..สำหรับผู้หญิงบางประเภทที่ไม่ควรเจาะผิวหนัง เช่น ผู้ที่เป็นโรคโลหิตไหลไม่หยุดหรือที่เรียกว่าฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) โรคภูมิแพ้ผิวหนังและพุพอง โรคลิ้นหัวใจพิการและผู้ที่แพ้เครื่องประดับที่เป็นโลหะโดยเฉพาะโลหะนิเกิล ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ง่าย

 

            รู้อย่างนี้แล้วสาวๆที่คิดจะไปเจาะตามแฟ่ชั่นสมัยนิยม ขอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงทำสิ่งอื่นใดๆบริเวณอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายจะดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยในชีวิต แต่หากต้องการใส่ต่างหูประดับความสวยงามแบบลูกผู้หญิง แค่เจาะหูเพียงอย่างเดียวก็เติมเสน่ห์ให้ผู้หญิงอย่างเราได้แล้ว

 

            แต่หากสาวๆคนไหนที่ยังคิดจะเจาะหู ควรเตือนตัวเองไว้เลือกผู้ที่ชำนาญหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เจาะให้จะดีกว่า ถ้าไม่ยากได้ของแถมเป็นเชื้อโรคติดมือกลับมาบ้านรบกวนสุขภาพของคุณในภายหลัง…..

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย: กิตติยา  ธนกาลมารวย Team content www.thaihealth.or.th

              

                   

 

Update:28-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: กิตติยา  ธนกาลมารวย

 

           

 

Shares:
QR Code :
QR Code