`ผู้หญิงนักช็อป เสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อก`
กรมการแพทย์เตือนผู้หญิงป่วยเป็นโรคนิ้วล็อกถึงร้อยละ 20 มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากช็อปปิ้งหิ้วของหนัก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากผลสำรวจล่าสุดพบผู้หญิงป่วยเป็นนิ้วล็อกถึงร้อยละ 20 เท่านั้น โดยสาเหตุมาจากผู้หญิงใช้มือทำงานซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะการช็อปปิ้งของผู้หญิง รวมถึงการหิ้วของหนักๆ บิดผ้า ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน สับหมู สับไก่ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ อาการของโรคระยะแรก จะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วแรก กำมือไม่ถนัดหรือกำได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน เวลางอนิ้วหรือเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อก คือ เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือเป็นพร้อมกันหลาย นิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็ง จนไม่สามารถใช้งานได้
สำหรับวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค การรักษาในระยะแรกคือ พักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง การรับประทานยาต้านอาการอักเสบ การทำกายภาพบำบัดช่วยลดการอักเสบ และการติดยึดของเส้นเอ็นกับปลอกเอ็นหรือหากพบอาการรุนแรง กรณีที่นิ้วล็อกติดรุนแรงหรือพังผืดหนามาก การฉีดยาจะไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัด
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ไม่ควรหิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกลงที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน สำหรับผู้ที่ต้องใช้มือทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ควรพักการใช้มือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง ถ้าข้อนิ้วฝืดตอนเช้าหรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือกำแบเบาๆในน้ำ จะทำให้ข้อนิ้วฝืดลดลง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต