ผู้หญิงกับแรงงานนอกระบบเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ
กทม.เร่งหามาตรการรองรับ
ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวมีผลให้แรงงานไทยต้องถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะแรงงานหญิงมีความเสี่ยงที่จะตกงานมากกว่าแรงงานชายเพราะนายจ้างส่วนใหญ่จะรักษาสภาพแรงงานชายเอาไว้ เนื่องจากมีทักษะฝีมือมากกว่าแรงงานหญิง หากสถานการณ์การเลิกจ้างยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อแรงงานเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานชายขอบ ในอนาคตอาจส่งผลให้หันไปทำงานนอกระบบ ซึ่งไม่มีสวัสดิการและขาดความมั่นคงในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จัดมหกรรม “สมัชชาแรงงานนอกระบบ” ที่ศาลาว่าการ กทม.โดยเปิดรับสมัครงานกว่า 6,000 อัตรา และจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ กองทุนส่งเสริมสุขภาพเบื้องต้น สำนักอนามัย กทม.จัดตรวจสุขภาพเบื้องต้น สำนักงานประกันสังคม ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกันสังคมสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรคเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบทั้งพฤติกรรมสุขภาพกับคุณภาพชีวิต ความเสี่ยงด้านสุขภาพแรงงานนอกระบบ ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคจากการทำงาน
พญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานนอกระบบใน กทม.ว่าแรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ของสังคมไทยที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2551 พบว่า แรงงานนอกระบบ มีจำนวนถึง 24.1 ล้านคน
ขณะที่แรงงานในระบบ มีจำนวน 13.7 ล้านคน จากผลการสำรวจแรงงานนอกระบบในกทม. ปี 2552 มีถึง 1.3 ล้านคน ประกอบอาชีพรับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างแม่ค้า และแท็กซี่ โดยพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 14,000 บาทในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ส่งผลต่อรายได้แรงงานนอกระบบ ลดลงถึง 84% โดยส่วนใหญ่รายได้ครัวเรือนที่ลดลงประมาณเดือนละ 3,000-5,000 บาท ซึ่งมีสาเหตุจากยอดขายสินค้าหรือสิ่งของลดลง 60% จำนวนงานที่เคยทำลดลง 31% ต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ 3%
“ขณะนี้ กทม.เตรียมดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ได้มาตรฐาน และเนื่องจากวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กทม.จึงร่วมกับ สสส.จัดงานมหกรรมสมัชชาแรงงานนอกระบบเพื่อรับฟังความเห็นของกลุ่มแรงงานนอกระบบ พร้อมกันนี้ภายในงานสำนักจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะเปิดรับสมัครงานของแรงงานนอกระบบประเภทงานบริการ และภาคอุตสาหกรรม จำนวน 6,000 ตำแหน่ง” พญ.มาลินี กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รอง ผจก.สสส.กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.ค่าตอบแทนน้อย 2.ความเมื่อยจากอิริยาบถในการทำงาน 3.ได้รับสารเคมีเป็นพิษ 4.งานไม่ต่อเนื่อง 5.งานหนัก 6.ฝุ่น ควัน กลิ่น 7.แสงสว่างไม่เพียงพอ 8.เครื่องจักรเครื่องมือที่เป็นอันตราย 9.ที่ทำงานไม่สะอาด และ 10.ได้รับอันตรายต่อระบบหู/ตา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสัมผัสสารเคมีอันตรายโดยขาดเครื่องป้องกัน และปัญหาสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของตนเอง
“จากการศึกษาสุขภาพเชิงลึกของกลุ่มตัวอย่างแรงงานนอกระบบที่สำคัญ เช่น กลุ่มเกษตรกร ช่างเสริมสวย ผู้ผลิตตุ๊กตา พบโรคสำคัญอันดับ 1 คือ ความดันโลหิตสูง ขณะที่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ โรคอันดับ 1 ที่ต้องเผชิญคือ ปวดเกร็งกล้ามเนื้อจากการทำงาน และความเครียด ซึ่งวิธีการรักษาพยาบาลของแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ 64% หรือ 2.3 ล้านคนได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุเล็กน้อยและไม่ได้รับการรักษา และอีก 26% หรือ 9.6 แสนคนซื้อยาจากร้านขายยา และไปรักษาต่อเองที่บ้าน” ดร.สุปรีดากล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากการศึกษากลุ่มแรงงานนอกระบบในกทม. ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างงานและรายได้ที่มั่นคงแก่แรงงานในชุมชน เช่น ผลิตเสื้อผ้านักเรียนชุดพนักงาน ซึ่งเป็นการผลิตที่มีความต้องการต่อเนื่อง 2.ส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานผ่านศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 3.สนับสนุนเงิน 4.มีองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจน
ขณะที่นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมสมัชชาแรงงานนอกระบบว่า ปัจจุบันแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคนยังขาดการดูแล โดยเฉพาะการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่มีหลักประกันด้านสวัสดิการหรือการประกันสังคม นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการถูกเลิกจ้างงานจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานในระบบเปลี่ยนสภาพเป็นแรงงานในระบบเปลี่ยนสภาพเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น รัฐบาลมีแนวคิดที่จะขยายหลักประกันทางสังคมตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีช่องว่างโดยจะให้รัฐร่วมจ่ายเงินสมทบ ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เสนอขอแก้ไขกฎหมายไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดให้การแก้ไขกฎหมายผ่านไปโดยเร็ว
ด้านนายสมคิด ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกทม.โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานในชุมชนทั้ง 50 เขตรวม 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.สนับสนุนกองทุนสวัสดิการสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ โดยต่อยอดจากฐานกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน โดยมีสัดส่วนการอุดหนุนระหว่างแรงงานนอกระบบกับกรุงเทพฯ แบบ 1 ต่อ 1 และกำหนดเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
2.สนับสนุนการจ้างงานใน 5 กลุ่มอาชีพ อาทิ ตัดเย็บเสื้อผ้า ทาสีป้ายรถเมล์ หล่อท่อระบายน้ำ โดยกำหนดโควตาการจ้างงานกลุ่มอาชีพในชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 10 3.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพศูนย์สุขภาพชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขเชิงรุก และ 4.จัดทำโครงการนำร่องการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นใน 12 ศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันโรค
ทั้งนี้ มีผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงในทุกกลุ่มอาชีพแบบว่า กลุ่มช่างเสริมสวยเป็นกลุ่มที่มีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ โดยจ่ายเป็น 2.1 เท่า และ 1.2 เท่า ของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผลิตตุ๊กตาตามลำดับในขณะที่กลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสูงที่สุด คิดเป็น 3.1 เท่าและ 5.5 เท่าของกลุ่มเสริมสวยและผู้ผลิตตุ๊กตา
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 01-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์