ผู้สูงอาย..ดูแลช่องปากอย่างไร?

ที่มา : หนังสือคู่มือการดูแลผู้สูงวัยชุด “ช่องปากสุขี”


ผู้สูงอาย..ดูแลช่องปากอย่างไร? thaihealth


แฟ้มภาพ


เนื่องจากผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียง มีลักษณะและเงื่อนไขของปัญหาช่องปากที่แตกต่างกันอยู่บ้าง  ซึ่งควรทำแผนการดูแลสุขอนามัยช่องปากเฉพาะบุคคล  โดยประกอบด้วย ขั้นตอนการตรวจประเมิน  การทำแผนดูแลประจำวัน   การฝึกทักษะผู้ดูแลหรือผู้สูงอายุ  และการจัดสภาพแวดล้อม  ขั้นตอนทั้งหมดนี้ควรเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างทันตบุคลากร  ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุ


ผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง หรือมีภาวะพึ่งพิง สามารถบ่งตามเงื่อนไขได้ 4 แบบ ดังนี้


1.ผู้สูงอายุกลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้  อาจมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง  เช่น มือและแขนขาอ่อนแรงจากปัญหาอัมพฤกษ์อัมพาต    แต่ยังแปรงฟันเองได้ และให้ความร่วมมืออย่างดี ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้แปรงฟันด้วยตัวเอง  โดยผู้ดูแลช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และช่วยพยุงให้นั่งหรืออยู่ในท่าที่ สะดวกปลอดภัย วิธีทำความสะอาดปาก และฟันของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มวัยอื่นๆ


2.ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่อาจมีอาการหลงลืม ซึมเศร้า หรือก้าวร้าว ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มักไม่ยอมอ้าปาก  อาจกัดแปรง กัดหรือทุบตีผู้ดูแล   ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีเทคนิคด้านการสื่อสารและการจัดการพฤติกรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุวางใจและให้ความร่วมมือ  หากผู้สูงอายุแปรงฟันเองได้ควรสนับสนุนให้แปรงฟันด้วยตัวเอง หากทำไม่ได้ผู้ดูแลจึงค่อยแปรงให้


3.ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  ผู้ดูแลควรคำนึงเรื่องการจัดท่าทางเพื่อความปลอดภัย  และวิธีทำความสะอาดช่องปากและฟันที่เหมาะสม  ผู้สูงอายุอาจมีอาการกลืนลำบาก สำลักง่าย หรือมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ร่วมด้วย การทำความสะอาดช่องปาก และฟันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้ดีขึ้น


4.ผู้สูงอายุอยู่ในระยะเจ็บป่วยรุนแรง ควรทำความสะอาดช่องปากและฟันตามความจำเป็น  เมื่อผ่านพ้นอาการขั้นวิกฤตไปแล้วจึงทำความสะอาดตามปกติ  ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต  ควรดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้รู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code