“ผู้สูงอายุ”…อนาคตของเมืองไทย

 

 

 

 “ผู้สูงอายุ”…อนาคตของเมืองไทย

 

 

 

            “ความแก่ชรา คงไม่มีใครหลีกหนีได้พ้น  ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย  เด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนล้วนต้องพบเจอ  ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็น ผู้สูงอายุและเมื่อคนเราก้าวเข้าสู่วัยนั้น จะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มีสภาพการเสื่อมของระบบอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้น

 

           ปัจจุบันพบว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจากการพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุข และถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากพบว่าคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น เฉลี่ย 71.7 ปี  โดยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2550 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน  คาดว่าในปี 2568 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

 

           ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น คนวัยทำงานที่จะมาดูแลผู้สูงอายุกลับลดจำนวนลง เพราะครอบครัวคนไทยนับวันจะเล็กลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง มีการคุมกำเนิดมากขึ้นคนมีลูกน้อยลง ประกอบกับแนวโน้มหญิงที่ไม่แต่งงานมีมากถึง 33% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นปัญหาผู้สูงอายุในอนาคตจึงจำเป็นต้องหาทางออก……

           

           แต่ที่น่าห่วงไปกว่านั้น…

 

           เมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดจากการเสื่อมสภาพของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย  มีโรคแทรกซ้อน ปัญหาเรื่องสุขภาพจึงเป็นปัญหาที่น่าห่วงตามมา และเป็นที่น่าตกใจ!!! เมื่อผู้สูงอายุถึงประมาณร้อยละ 80 มีโรคประจำตัว และที่พบมากที่สุดคือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ ต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ที่ต้องดูแลรักษา

 

           นอกจากนี้ยังมีโรคบางอย่างที่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เช่น โรคสมองเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคขาดสารอาหารบางชนิด รวมถึงโรคเรื้อรังที่มีหลายโรคร่วมกันในคนคนหนึ่ง ถึงประมาณร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด

 

           นอกจากโรคกายแล้ว โรคทางจิตใจก็มีผลต่อการดำรงชีวิตเช่นกัน โดย น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มผู้สูงอายุว่า จากรายงานจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเป็นผู้สูงอายุ พบว่า ในรอบ 5 ปี (2547-2551) มีผู้ป่วยเข้ารับบริการถึง 144,229 รายต่อปี

 

           และปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือ โรควิตกกังวลและความเครียด คิดเป็นร้อยละ 26.42  โรคจิต เช่น โรคจิตเภท คิดเป็นร้อยละ 25.73  โรคที่มีสาเหตุจากทางสมองและทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม คิดเป็นร้อยละ 18.47  โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 18.24 และโรคที่มีสาเหตุจากสารเสพติด เช่น จากสุรา คิดเป็นร้อยละ 3.45

             

            เมื่อเป็นเช่นนี้…การได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากลูกหลานจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในด้านสุขภาพ  การพาผู้สูงอายุไปตรวจร่างกายประจำปี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลในเรื่องการได้รับสารอาหารให้ครบถ้วน รวมไปถึงการออกกำลังกายเป็นประจำอีกด้วย

 

           ในส่วนของโรคทางใจ ลูกหลานควรมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้สูงอายุ ด้วยการเคารพยกย่อง ให้เกียรติ ห่วงใย เอื้ออาทร ทั้งคำพูดและการกระทำ การเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุ เช่น การหลงลืม การพูดซ้ำๆ และที่สำคัญควรมีเวลาว่างพาผู้สูงอายุไปวัด หริอสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ท่านชอบ รวมทั้งการพาไปรับประทานอาหารร่วมกันทั้งครอบครัว  พูดคุยถามถึงทุกข์สุข ซึ่งมันจะช่วยลดปัญหาทางใจของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

 

           ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เดินทางกลับบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ และมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อแสดงความกตัญญูแก่ท่าน เพื่อให้ท่านสุขกาย สบายใจ และอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลานตราบนานเท่านาน

         

 

 

 

 

ที่มา : ณัฐภัทร ตุ้มภู่  Team Content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Update : 12-04-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฐภัทร  ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code