‘ผู้สูงอายุบ้านแม่ใส’ มุ่งสร้างเกษตรปลอดสาร
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"จังหวัดพะเยา" เป็นจังหวัดที่มีการดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพการเกษตร เป็นหลัก เช่น ทำนา สวนข้าวโพด สวนยางพารา พืชผักสวนครัว และยังเป็นจังหวัดที่มีวิสัยทัศน์เรื่อง "อาหารปลอดภัย" โดยมุ่งเน้นเรื่องการ ผลิตอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม จึงต้องเป็นเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
ปัจจุบันประชาชนนิยมหันมาบริโภคพืชผักปลอดสารพิษ ผักสวนครัวรั้วกินได้ ไม้กระถางกันมากขึ้น ดังนั้นในหลายชุมชน หลายท้องถิ่นจึงมีการรณรงค์ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ในครัวเรือน เหลือกินก็แบ่งปันให้ญาติพี่น้อง เหลือจากแบ่งปันก็ขายเป็นรายได้เสริม
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ใส อ.เมืองพะเยา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการรณรงค์ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการเข้าร่วมโครงการเป็นหลัก
"นายสันติ สารเร็ว" นายก อบต.แม่ใส กล่าวว่า เนื่องจากผู้สูงอายุในพื้นที่ ต.แม่ใส มีความนิยมบริโภคอาหารพื้นบ้านที่มาจากพืชผักพื้นบ้าน ที่ปลูกขึ้นเองในครัวเรือน เช่น ผักสวนครัวหลังบ้าน ผักขึ้นตามรั้ว ปลูกในกระถาง ฯลฯ เมื่อปลูกมากขึ้นก็เหลือ เหลือแล้วก็แบ่งปันให้ญาติพี่น้อง ไม่หมดก็ขาย ทำให้มีรายได้วันละ 50-200 บาท โดยวางขายในตลาดสดแม่ใส หน้าวัดแม่ใส ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายที่แข็งแรง เพราะรับประทานผักปลอดสารพิษ
ขณะเดียวกันทาง อบต.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 100,000 บาท จึงนำมา สนับสนุนโครงการเกษตรปลอดภัยดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 7 หมู่บ้าน เป็นผู้สูงอายุและคนพิการไม่ต่ำกว่า 50 ราย ซึ่งการปลูกผักสวนครัวของกลุ่มผู้สูงอายุใน ต.แม่ใส ส่วนใหญ่จะปลูกในสวนหลังบ้าน รั้วหน้าบ้าน หรือกระถางรอบตัวบ้าน มีพื้นที่ว่างที่สามารถปลูกได้ก็ปลูก เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายมาแต่โบราณ แต่กลับมาเป็นวิถีที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอีกครั้ง เพราะทำให้สุขภาพแข็งแรงจากการทานผักปลอดสารพิษ ได้ออกกำลังในการทำสวน ดูแลพืชผักด้วยตนเอง และสุขภาพจิตสดชื่น ไม่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะอยู่กับสวนผัก เวลาแบ่งปันก็แสดงออกถึงน้ำใจที่มีให้กันและกัน นำผักไปขายที่ตลาดก็รู้จักกัน ขายบ้างแถมบ้าง มีแต่ความสุข
"นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันนำพืชผักสวนครัวปลอดสารไปขายตามสถานที่ต่างๆ เช่น กิจกรรมหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด ที่เปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มผักปลอดสารไปวางขาย ส่วนใหญ่จะเป็นผักพื้นบ้าน เช่น ผักเชียงดา ผักกาดกวางตุ้ง ผักชี ชะอม หัวปลี ตำลึง ฯลฯ สารพัดผักที่ปลูกได้ในพื้นที่รอบๆ บ้าน" นายสันติกล่าว
นายสันติ ยังกล่าวอีกว่า งานมหกรรมผู้สูงอายุ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) พะเยา ในปี 2561 ที่ผ่านมา จะพบเห็นกลุ่มผู้สูงอายุของ ต.แม่ใส ได้นำผักสวนครัวปลอดสารพิษไปวางขายในงาน ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ผักที่วางขายถูกซื้อหมดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะผักสด กรอบ ไม่มีกลิ่นฉุนของสารเคมีใดๆ คนนำผักปลอดสารมาขายนั่งชมงานไป ขายผักไป มีความสุขจริงๆ
ขณะที่ "นางชรีพร ยอดฟ้า" ประธานชมรม ผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดพะเยา และคณะทำงานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เราได้ทำงานคลุกคลีกับคนพิการมานานกว่า 10 ปี ทำให้ทราบว่า ความพิการมีสาเหตุ 2 ประการ คือ 1.พิการแต่กำเนิด และ 2.พิการจากการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะความพิการจากการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากสารเคมีในภาคเกษตรกรรม เพราะสารเคมีเป็นพิษทำให้สะสมในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้คนทั้งคนทำเกษตรและผู้บริโภคพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษได้รับอันตรายจนทำให้ร่างกายเกิดความพิการ ผู้สูงอายุที่สัมผัสกับสารเคมีมากๆ จะส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วย เกิดโรคจากสารพิษ สุดท้ายนำไปสู่ความพิการ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้น ด้วยความตระหนักในสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการผักปลอดสาร ต.แม่ใส โดยโครงการดังกล่าวของ ต.แม่ใส ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ อบต.แม่ใส สนับสนุนงบประมาณโครงการ มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรพื้นบ้าน อาหารปลอดภัย สำนักงานเกษตรจังหวัด สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สนับสนุนเรื่องแรงงานนอกระบบ
เมื่ออาหารปลอดภัย เนื่องจากทุกคนใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการ ทำให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ไม่เป็นโรคซึมเศร้า มีกิจกรรมได้ทำในครอบครัว มีรายได้จากการขายพืชผักปลอดภัย
จากค่านิยมของวิถีแต่เดิม เติมน้ำใจ ใส่ความรวดเร็วยุค 4.0 สู่เกษตรปลอดภัยเพื่อสุขภาพ ป้องกันและลดปัญหาผลกระทบจากสารพิษในภาคเกษตรกรรม ลดสถิติความพิการได้อย่างยั่งยืน