ผู้สูงอายุตำหนักธรรม จิตอาสาชุมชน
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันหลายชุมชนได้ขับเคลื่อนงานเรื่องผู้สูงอายุ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งเรื่องการกินอาหาร การดูแลสุขภาพกายและใจ รวมถึงสร้างงานสร้างรายได้ โดยที่ตำบลตำหนักธรรม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้น เพื่อปั้นผู้นำสูงอายุจิตอาสา มาช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเองในชุมชน รวมไปถึงการรวมกลุ่มเป็นชมรมฝึกอาชีพต่าง ๆ ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรม
ตำบลตำหนักธรรม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ มี 8 หมู่บ้าน ประชากร 3,351 คน กว่า 70% ทำอาชีพเกษตรกร 15% รับราชการ และ 15% ค้าขาย เป็นชุมชนหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบ มีผู้สูงอายุ 649 คน คิดเป็น 21.6% ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กันตามลำพัง หรืออาศัยอยู่กับหลาน เหลน เนื่องจาก คนวัยทำงาน วัยหนุ่มสาว นิยมเดินไปทำงานต่างถิ่น หรือแยกตัวไปสร้างครอบครัว กลายเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยเด็กและ ผู้สูงวัยเป็นหลัก ขาดสมาชิกที่เป็นหนุ่มสาว ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนชุมชน ผู้สูงอายุมีเพียงรายได้จากเบี้ยยังชีพ และลูกหลานให้เล็กน้อยเท่านั้น
โรงเรียนผู้สูงอายุตำหนักธรรม
การขับเคลื่อนงานการดูแลผู้สูงอายุ ของตำบลตำหนักธรรม เริ่มขึ้นในปี 2540 โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดแพร่ ร่วมกับ สถานีอนามัยตำหนักธรรม และสถานีอนามัย สะเลียม ชวนผู้สูงอายุรวมกลุ่มเป็น "ชมรมผู้สูงอายุบ้านตำหนักธรรม" ทำกิจกรรมด้านสุขภาพ เกิดกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ศพผู้สูงอายุ จัดตั้งกลุ่มอาชีพ "กลุ่มดอกไม้จันทน์" ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
ปี 2557 หลังจากที่มีการดำเนินการ ผู้สูงอายุมาระยะหนึ่ง จนเกิดการรวมตัว ที่เหนียวแน่น นำมาซึ่งการพัฒนางานด้าน ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยรวมกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อฝึกอาชีพ ร่วมกับกลุ่มสตรีในการสานกระเป๋าจากเส้นพลาสติกเพื่อนำไปจำหน่าย หลังจากนั้นในเดือนเมษายน ปี 2558 มีการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรม ในพื้นที่โรงเรียนบ้านสะเลียมใต้เก่า ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรม
โดยการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ หน่วยบริการสุขภาพ เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัด รวมไปถึงการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งผลให้ผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ขับเคลื่อนสังคมโดยสูงวัย
วิยะดา เขื่อนแปด อายุ 44 ปี นักพัฒนาชุมชน อธิบายว่า โรงเรียนผู้สูงอายุตำหนักธรรม มีความแตกต่างจากโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วไป คือ มีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้นำผู้สูงอายุ เปิดรับเพียง 50 คนต่อรุ่น สำหรับรุ่นแรกเริ่มเมื่อปี 2558 ขณะนั้นเรียนสัปดาห์ละ 3 วัน คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ ในช่วงเช้าจัดให้มีการเรียนเชิงวิชาการ เช่น "ภาษาไทย" เน้นการฝึกเป็น วิทยากรชุมชน ทั้งการเย็บผ้า การทำจักสานต่างๆ "คณิตศาสตร์" ในการคำนวณบวกลบ คูณหาร "ภาษาอังกฤษ" ฝึกเพื่อรองรับชาวต่างชาติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ออกไปฝึกอาชีพให้กับบุคคลภายนอกได้ด้วย ส่วนช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมฝึกอาชีพและสันทนาการ
"ผู้สูงอายุที่เข้ามาต้องเป็นผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัคร ถูกฝึกจากเราให้ทำ ทุกอย่างเป็น และออกไปติดตามผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน เป็นผู้นำในชุมชน สามารถสอนอาชีพผู้ที่สนใจได้ และกระจายข่าวสาร โดยเปิดสอนรุ่นละ 2 ปี ปัจจุบันกำลังสอนรุ่นที่ 2 เนื่องจากเมื่อรุ่นแรกจบไป ต้องเว้นช่วงเตรียมความพร้อม คัดเลือกคนเพื่อเรียนรุ่นที่ 2 พร้อมกับปรับให้เรียนเพียงวันพุธ 08.30-15.30 น. โรงเรียนฯ กลายเป็นแหล่ง รวมกลุ่มของผู้สูงวัยในชุมชน และเด็กๆ"
วิยะดา อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุ 1 คน จะต้องสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อีก 10 คน และดึงเด็กเข้ามาทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ (อสม.น้อย) ตอนนี้มี 69 คน อายุน้อยสุด 9 ขวบ รวมถึงฝึกอาชีพให้กับทุกรุ่น ทุกวัย สร้างรายได้ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้สูงอายุที่เป็นนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุฯ หมู่บ้านละ 5 คน เพื่อรู้ข่าวภายในหมู่บ้าน ช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกันเอง
"เมื่อก่อนผู้สูงอายุจะนั่งอยู่ข้างหลัง เวลามีการประชุมประชาคม ไม่กล้าแสดงออก แต่ตอนนี้ผู้สูงอายุกล้าแสดงออกมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะฝึกรุ่นละเพียง 50 คน แต่สามารถกระทบยอดไปได้ในหลายกลุ่ม นอกจากนี้ ยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้สูงวัย เช่น หากรับงานทำขนม เบเกอรี่มา เด็กก็จะมาสอนให้ผู้สูงอายุต่อเป็นวัฏจักร โรงเรียนผู้สูงอายุ ไม่ใช่ได้รับประโยชน์แค่ผู้สูงอายุ แต่ยังได้วัยเด็ก และวัยกลางคนเข้ามาด้วย"
ปัจจุบันมีการเปิดสอนทั้งกระเป๋าด้นมือ ตะกร้าพลาสติก ทำดอกไม้จากถุงพลาสติก และวัสดุจากธรรมชาติ การแปรรูปอาหาร พรมเช็ดเท้า สอนทำการเกษตร เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับผู้ที่มาดูงานและสามารถสั่งให้ส่งทางไปรษณีย์ได้ ทั้งนี้ หากหมู่บ้านไหนต้องการฝึกอาชีพ สามารถรวมกลุ่มกันมาไม่เกิน 20 คน เพื่อให้นักเรียนสูงวัยที่เป็นแกนนำไปสอนอาชีพได้ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง
ถวิล จุวัน อายุ 56 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน รุ่นที่ 1 โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลตำหนักธรรม ซึ่งปัจจุบันได้ผันตัวเองมาเป็นวิทยากรสอนงานฝีมือ เล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกร อาศัยอยู่กับสามี ส่วนลูก 3 คน แยกย้ายกันไปมีครอบครัว แต่เดิมเมื่อว่างจากการทำนาก็จะอยู่บ้านเฉยๆ จึงสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนฯ แม้จะมีเรียนวิชาการแต่ก็ไม่เครียดมาก ตอนนี้เป็นวิทยากรประจำศูนย์สอนงานฝีมือต่างๆ และกระจายความรู้ไปยังหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังต้องวัดความดัน เยี่ยม ผู้ป่วยผู้สูงอายุติดเตียง โดยพา อสม.น้อย ติดตามไปด้วย บางคนมีโรคซึมเศร้า หรืออัมพฤกษ์ ก็ไปพูดคุยด้วยเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุข
หลังจากที่ชุมชนได้ขับเคลื่อนงานเรื่องผู้สูงอายุทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ทั้งเรื่องการกินอาหาร การปฏิบัติตัว รวมถึงสร้างรายได้ โดยทางโรงเรียนจะมีอุปกรณ์ เช่น ผ้า ซิป ให้ผู้ที่ฝึกกลับไปทำที่บ้าน หรือทำที่โรงเรียน ดังนั้น กระเป๋าทุกใบที่ขาย จะมีชื่อคนทำสอดไว้ด้านใน หากขายได้ ผู้ทำก็จะได้เงินราว 30% ของราคาสินค้า โดยทางโรงเรียนฯ จะหักเพียงต้นทุนไว้ทำต่อ หรือบางคนก็ไม่เอาเงิน แต่ให้ทางโรงเรียนเก็บไว้เป็นกองกลางเวลาทำกิจกรรม