ผู้พิการภาคใต้มีภาวะเครียด-เสี่ยงซึมเศร้า

ที่มา : เว็บไซต์ คม-ชัด-ลึก


กรมสุขภาพจิต มอบรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แก่เด็กพิการศูนย์การศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่ ในจ.ปัตตานีและนราธิวาส 68 คนเพิ่มพลังบวก


ผู้พิการภาคใต้มีภาวะเครียด-เสี่ยงซึมเศร้า thaihealth


น.อ.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 และพ.ญ.บุญศิริ จันทร์ศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จำนวน 99 รายการ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากองค์กรการกุศลต่างประเทศ ประกอบด้วยรถเข็น35 คัน และอุปกรณ์อื่นๆ อีก 64 ชิ้น ได้แก่ ไม้ค้ำยัน วอร์คเกอร์ เครื่องช่วยพยุงเดินที่มีล้อและเบรก เบาะนั่ง ราวจับห้องน้ำ ฟูกนอน รวมมูลค่า 1,089,050 บาท ให้แก่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในจ.ปัตตานี จำนวน 34 คน เป็นประชาชนทั่วไป 9 คน และเด็กนักเรียนจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจ.ปัตตานี 25 คน ส่วนใหญ่พิการทางสมอง จากภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ขาดออกซิเจน ซึ่งเด็กจะมีปัญหากล้ามเนื้อที่แขนขาเกร็ง เดินไม่ได้และมีพัฒนาการล่าช้า เพื่อเพิ่มพลังใจ เพิ่มโอกาสในการดำเนินชีวิตได้สุขสบายขึ้น


อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตกลุ่มผู้พิการ ให้มีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุขที่สุด สามารถพัฒนาทักษะความสามารถของตนเองที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด จากผลการวิจัยพบว่าผู้พิการส่วนมากร้อยละ 75 มีปัญหาสุขภาพจิต เรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจมากที่สุดคือไปไหนมาไหนไม่สะดวก รองลงมาคือรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระผู้อื่น ในส่วนของผู้พิการที่อยู่ในพื้นชายแดนใต้ เช่นที่จ.ปัตตานีที่ได้รับมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานฯ


ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบว่ามีความเครียดสูงร้อยละ 38 ในจำนวนนี้มีความเสี่ยงเกิดอาการซึมเศร้าร้อยละ 28 การมอบอุปกรณ์ช่วยเหลือจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้พิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถยืนหยัดด้วยตนเอง บรรเทาความเครียดจากข้อจำกัดของการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานฯให้ผู้พิการในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ในครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมาจนถึงปี 2559 มอบไปแล้ว 842 รายการ ในจำนวนนี้เป็นรถเข็น 320 คัน รวม 4.7ล้านบาท


โดยในปีนี้ได้ขยายเข้าสู่กลุ่มนักเรียนจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจ.ปัตตานี และนราธิวาสด้วย รวม 56 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กพิการทางสมอง บางรายพิการซ้ำซ้อนทั้งร่างกายและทางสมองร่วมด้วย และมอบให้ประชาชนทั่วไปอีก12คน ส่วนใหญ่พิการเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง เดินไม่ได้ สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองแตก โรคกระดูกพรุน


" การช่วยเหลือครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กพิการมีโอกาสช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องคอยอุ้มไปไหนมาไหนตลอดทั้งวัน โดยในวันพรุ่งนี้ ( 27 สิงหาคม 2560) จะมอบอุปกรณ์ชนิดเดียวกันให้ผู้พิการที่จ.นราธิวาสด้วย จำนวน 32 คน เป็นนักเรียน 25 คน ประชาชนทั่วไป 7 คน รวมจำนวน 92 ชิ้น มูลค่า 1,147,750 บาท ในจำนวนนี้ได้จัดเตรียมรถเข็นไฟฟ้าจำนวน ๑ คัน มูลค่า 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐ มอบให้เด็กนักเรียนหญิงที่ร่างกายพิการ แต่สมองการเรียนรู้ดี สามารถใช้มือสองข้างได้ เพื่อให้เด็กนำไปใช้ในการเรียนหนังสือ และได้มอบให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ดำเนินการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กนักเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษทั้ง 2แห่งอย่างต่อเนื่อง" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว


สำหรับรถเข็นนั่งในโครงการฯ นี้ จะมีความพิเศษ โดยทีมอาสาจากองค์การกุศลทั้งในและต่างประเทศเช่นอังกฤษ อิหร่าน เยอรมัน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ประมาณ 20 คน ซึ่งมีประสบการณ์ในการช่วยคนพิการและดูแลอุปกรณ์ช่วยความพิการ จะทำการปรับวัดขนาดของรถและที่นั่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้พิการแต่ละคนมากที่สุด สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และจะเปลี่ยนให้ทุก 5 ปี ตามการเจริญเติบโตของเด็ก


ภาพรวมตั้งแต่พ.ศ.2543 ถึงปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตได้รับบริจาคอุปกรณ์จากองค์กรการกุศลต่างประเทศ62 ครั้ง มูลค่า 171 ล้านบาท และนำไปมอบให้เด็กและคนพิการแล้ว 23,200 คน ทั้งนี้สถานการณ์ผู้พิการทั่วประเทศ รายงานข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล่าสุดในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 มีผู้พิการ 1.5 ล้านกว่าคน โดยพบความพิการทางการเคลื่อนไหว เดินไม่ได้มากที่สุดเกือบร้อยละ 50เช่นขาขาด ขาบิดงอ สาเหตุหลักของความพิการเกิดมาจากการเจ็บป่วย เช่นโรคเบาหวาน อุบัติเหตุ ข้อสันหลังอักเสบ โรคลมชักพบได้ร้อยละ 44 ซึ่งสูงกว่าความพิการแต่กำเนิดและพันธุกรรมประมาณ 2 เท่าตัว

Shares:
QR Code :
QR Code