ผู้ป่วยไข้เลือดออกลด 75 %
สธ.พบผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง เพราะเน้นให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง รณรงค์ให้ประชาชนรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ลดแหล่งน้ำเสีย ลดปริมาณขยะ
วันที่ 8 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัด สธ. กล่าวเปิดงานนิทรรศการวันอนามัยโลก (World Health Day 2014) ตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี ว่า วันอนามัยโลกปีนี้เน้นเรื่อง แมลงพาหะนำโรค : Vector-borne disease เพราะเป็นพาหะทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและพาราสิตต่างๆ เข้าสู่คน ก่อให้เกิดโรคได้มากถึง 12 โรค อาทิ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา เท้าช้าง มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้ลิซมาเนีย ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
โดยแมลงเป็นสาเหตุการป่วยถึงร้อยละ 17 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด สร้างปัญหาให้คนทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากถูกแมลง ได้แก่ ยุง ริ้นทรายฝอย และเห็บกัดมากกว่า 2,500 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศ เสียชีวิต 1 ล้านกว่าคน
นพ.ทรงยศ กล่าวว่า ในประเทศไทย ยุงถือเป็นตัวก่อโรค ให้คนไทยป่วยที่รู้จักอย่างน้อย 5 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ ชิคุนกุนยา เท้าช้าง และมาลาเรีย ในปี 2556 พบรวมกัน 170,051 ราย เสียชีวิต 159 ราย อันดับ 1 คือไข้เลือดออก มีผู้ป่วยสะสมถึง 153,765 ราย มากกว่าปี 2555 ถึง 2 เท่าตัว เสียชีวิต 132 ราย รองลงมาคือ มาลาเรีย พบผู้ป่วย 14,741 ราย เสียชีวิต 6 ราย ไข้สมองอักเสบป่วย 716 ราย เสียชีวิต 17 ราย
มาตรการลดผู้ป่วยของโรคที่เกิดจากยุง สธ.เน้นให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง รณรงค์ให้ประชาชนรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ลดแหล่งน้ำเสีย ลดปริมาณขยะ จัดบ้านพักให้โล่ง โปร่ง สบาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ นอนในมุ้ง ใช้ยาทากันยุง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากป่วยจะได้รับการรักษาทันเวลา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เมื่อปี 2556 นับเป็นปีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในไทยสูงสุดในรอบ 20 ปี แต่ปี 2557 ขณะนี้มีผู้ป่วย 3,790 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึง 75% เสียชีวิต 3 ราย แต่ต้องไม่ประมาท เพราะมาเลเซียปีที่แล้วมีการป่วยน้อย แต่ปีนี้กลับระบาดสูงกว่าถึง 4 เท่า คาดว่าปีนี้ในไทยจะมีผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกมากประมาณ 80,000-100,000 ราย แต่หากควบคุมสถานการณ์ได้ดีจำนวนอาจลดลง
ที่มา : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต