ผู้ป่วยโรคเรื้อน 6 อำเภอสูงเกินเกณฑ์ “ฮู”

สถาบันราชประชาสมาสัย เผยตัวเลขผู้ป่วยโรคเรื้อนในไทยลดลง แต่มี 6 อำเภอที่มีความความชุกของโรคสูงเกินเกณฑ์องค์อนามัยโลก หวั่นหมอโรคเรื้อนขาดแคลน

นพ.รัชต์ วงศ์ตรังคพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันสมาคมราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขล่าสุดของผู้ป่วยโรคเรื้อนหลังการเข้าเยี่ยมหมู่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อน ไตรสภาวคาม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ว่า ในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2496 โรคเรื้อนถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยขณะนั้นมีอัตราความชุกโรคเท่ากับ 50 คนต่อประชากร 10,000 คน หลังจากมีการจัดตั้งสถาบันมูลนิธิราชประชาสมาสัย ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2501 เพื่อศึกษาวิจัย ให้การช่วยเหลือดู ควบคุมการเกิดและการแพร่กระจายของโรคเรื้อน ทำให้สถานการณ์ของโรคเรื้อนค่อยๆ ลดความรุนแรงลง

“สามารถกำจัดโรคเรื้อนไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก โดยลดความชุกโรคต่ำกว่า 1 ต่อประชากร 10,000 คน ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2537 โดยพบความชุกของโรคเพียง 0.82 ต่อประชากร 10,000 คน และในปี พ.ศ.2553 ลดเหลือเพียง 0.11 ต่อประชากร 10,000 คน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 398 ราย อายุมากที่สุด 91 ปีและอายุน้อยที่สุด 3 ปีและพบผู้ป่วยรายใหญ่มีความพิการ 15%” นพ.รัชต์ กล่าว

นพ.รัชต์ กล่าวต่อว่า แม้จะมีการกำจัดโรคเรื้อนให้ลดลงได้ตามเป้าหมายในระดับประเทศ และจังหวัดแล้ว แต่ยังมีพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกอยู่ 6 อำเภอ ใน 4 จังหวัดได้แก่ อำเภอสตึก จ.บุรีรัมย์, อำเภอเมยวดี จ.ร้อยเอ็ด, อำเภอกะพ้อ และอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี, อำเภอระแงะ และอำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ปัจจุบันมีการพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ปีละประมาณ 300 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน แรงงานต่างด้าว และชาวไทยภูเขา ซึ่งแสดงว่ายังมีผู้ป่วยหลงเหลืออยู่และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเกิดการแพร่กระจายของเชื้อ จนเกิดความพิการ

นพ.รัชต์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาลดน้อยลง เนื่องจากสถานการณ์โรคเรื้อนลดลง แพทย์จึงมีความสนใจในเรื่องนี้น้อยลงไปด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลให้นักวิชาการชำนาญการหรือนักเทคนิคการแพทย์ที่มีทักษะการตรวจเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ป่วยโรคเรื้อนลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้บางครั้งการวินิจฉัยจึงคลาดเคลื่อนหรือตรวจหาเชื้อโรคไม่พบ ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย

“สถานการณ์โรคเรื้อนจะลดลงแต่ก็ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในทุกปี ดังนั้นสถาบันที่เกี่ยวข้องยังควรให้ความตระหนักและให้ความสำคัญในการผลิตแพทย์และบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพื่อสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญหากผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอาการทางผิวหนัง เช่น เป็นวงด่าง ไม่คัน ขนร่วง รู้สึกชาตามแผล หรือมีตุ่มนูนแดงกระจายทั่วร่างกาย และอาการทางเส้นประสาท เช่น มือเท้าชา อ่อนกำลัง หลับตาไม่สนิท กล้ามเนื้อลีบฝ่อ และนิ้วงอ ควรรับไปให้ตรวจวินิจฉัยจากแพทย์” นพ.รัชต์ กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 

Shares:
QR Code :
QR Code