ผู้ป่วยจิตเวช ‘คนไร้บ้าน’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน ชีวิตของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีหวังขึ้นมา ด้วยการประสานการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
"ปัจจุบันประเทศไทยมีคนไร้บ้านทั่วประเทศ 30,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้าน 1,300 คน 30% มีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง และเป็นอันตรายต่อสังคม 50% เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ขาดความสามารถในการดูแลตนเอง และการขาดความรู้ในเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านมีปัญหาด้านสุขภาพจิต" ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกเล่าสถานการณ์ของคนไร้บ้านในปัจจุบัน หลังจากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่เก็บข้อมูล
ล่าสุด สสส.ร่วมกับ 6 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย 1. กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 5. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ 6. มูลนิธิกระจกเงา ลงนามความร่วมมือ (MOU) ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อช่วยเหลือดูแลให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านเป็นไป ในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า สสส.เข้ามาทำงานเพื่อสุขภาวะให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมไทย อันดับแรกคือมุ่งเปลี่ยนวาทกรรมที่สังคมใช้กับคนกลุ่มนี้มาเนิ่นนานว่า "คนจรจัด" แต่อยากให้สังคมเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้เป็นเพียงแค่ "คนจนจัด" ลึกๆ แล้วคนกลุ่มนี้ถ้าไม่มีปัญหาวิกฤติในชีวิตหรือจิตใจ คงไม่ออกมาใช้ชีวิตกินนอนอยู่นอกบ้าน สสส.จึงได้ทำหน้าที่ประสานหน่วยงาน อย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตำรวจ กรมสุขภาพจิต ให้มาทำงานร่วมกันเพื่อดูแลและพาคนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคม
พล.ต.ต.ธนชัช น้อยนาค ผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 รักษาราชการแทน ผู้บังคับการ ประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า บทบาทของตำรวจในการทำงานดูแลคนไร้บ้าน ได้ทำความเข้าใจกับตำรวจในท้องที่ ในการช่วยกันคัดกรอง พบว่าคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ จะมาป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณป้อม เพราะทราบดีว่าเมื่อมาจะมีข้าวกิน ตำรวจได้อาศัยคนกลุ่มนี้ช่วยเฝ้าป้อมให้ บางครั้งส่งกลับไปแล้วแต่ก็กลับมา จะถ่ายรูปไว้แล้วส่งไลน์เพื่อตามหาญาติให้เขาด้วย
นายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนคนไร้บ้านครึ่งหนึ่งมีปัญหาเป็นโรคซึมเศร้า ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างทำหน้าที่ ตำรวจพามาส่งที่ รพ. เมื่อรักษาเสร็จ ไม่มีที่อยู่ จึงต้องอยู่ที่ รพ. แม้จะหายป่วยแล้ว แต่หลังจากลงนามความร่วมมือแล้วพม. จะรับหน้าที่ไปดูแลต่อเพื่อให้พื้นฐานปัจจัยสี่ ฝึกอาชีพและตามหาญาติให้ ขณะเดียวกันหากโรคกลับมาซ้ำจะให้กลับมารักษา ทำให้การดูแลครบวงจรและมีคุณภาพ น่าจะเป็นต้นแบบดีๆ ของโลกได้ในอนาคต
"รพ.จิตเวช 10 แห่ง ที่ดูแลผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยไม่มีที่ไปจะอยู่ รพ. บางคนอยู่เป็น 10 ปี และ รพ. ไม่ได้เงินค่ารักษา แม้จะพิสูจน์ได้ว่าคนกลุ่มนี้จะอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ตาม ดังนั้นจะพยายามจำหน่ายออกเพื่อให้ได้เงินกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายของ รพ. บ้าง แต่ครั้งนี้ พม.รับไปน่าจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชจะรับประทานอาหารเยอะ""ที่ผ่านมามีข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชน้อยมาก ส่วนหนึ่งได้ข้อมูลจากคนไร้บ้านด้วยกัน เขาจะใช้ภาษาเรียกคนกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชว่า "รั่ว" เขาจะเตือนให้เจ้าหน้าที่ระวังแต่น้อยคนที่จะทำร้ายผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่ที่ต้องมาเป็นคนไร้บ้านมาจากปัญหาเศรษฐกิจ" สมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนไร้บ้าน
ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน ชีวิตของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีหวังขึ้นมา ด้วยการประสานการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ