ผู้ต้องขัง 3 แสนคนใช้สิทธิบัตรทอง
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมราชทัณฑ์ และ สปสช. ที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดูแลกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็น 1 ในกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้เข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า จากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมราชทัณฑ์ และ สปสช. ที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562
สปสช.ได้เร่งขับเคลื่อนดูแลสุขภาพ ผู้ต้องขัง ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำ ให้เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในพื้นที่ครบทั้งหมด 142 แห่ง พร้อมทั้งลงทะเบียนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับผู้ต้องขังที่มีสิทธิทั้งหมดแล้ว จำนวน 329,024 คน ไม่รวมผู้ต้องขังที่เป็นสิทธิว่าง และที่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นอีก 10,765 คน
นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า จากการดำเนินงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ในช่วง 5 เดือน ส่งผลให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ดังนี้ บริการตรวจคัดกรองโรค 102 แห่ง บริการวัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้ต้องขังตามฤดูกาล 92 แห่ง แพทย์/พยาบาลเวชปฏิบัติจากโรงพยาบาลในพื้นที่เข้าตรวจรักษา 81 แห่ง จิตแพทย์/นักจิตวิทยา/พยาบาลจิตเวช เข้าตรวจรักษา 69 แห่ง ทันตแพทย์ให้บริการในเรือนจำ 96 แห่ง จัดระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย 15 แห่ง มีห้องควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่โรงพยาบาล 25 แห่ง โรงพยาบาลในพื้นที่สนับสนุนยา วัสดุเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 84 แห่ง และเรือนจำได้รับงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 22 แห่ง นับเป็นแนวโน้มที่ดี