ผับ-บาร์นำผู้หญิงติดบุหรี่ตัวมัจจุราชร้าย

สูบตั้งแต่5มวนถึง2ซอง

 

          ผมเป็นคนหนึ่งคนที่ไม่แตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทุกประเภทไม่ว่าจะอย่างอ่อนหรืออย่างแข็ง แล้วก็ไม่สูบบุหรี่ หรือพูดได้เต็มปากว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขเลยก็ว่าได้

 

          การไม่สูบบุหรี่จึงมักเป็นอริกัน โดยเฉพาะกลิ่นที่โชยมาเข้าจมูกทีไรเป็นมีอาการจะหายใจหายคอไม่ออกเอาทันที ในสถานที่อันจำกัดและอับทึบอย่างในผับ บาร์หรือคาราโอเกะ ถ้าเปิดให้สูบบุหรี่ได้ต้องไม่มีผมอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นคงต้องจบชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย

 

          ได้ยินคอไม่นิยมอบายมุขหรือไม่กินเหล้าสูบบุหรี่เช่นเดียวกัน จะรู้สึกคล้ายๆ กันอย่างที่บอกข้างต้น แล้วยังได้ยินต่อไปอีกว่าเป็นตัวร้ายกว่าแอลกอฮอล์เอาซะด้วยในด้านการก่ออันตรายต่อร่างกายจนถึงชีวิต ทำให้เห็นคนสูบบุหรี่เป็นคนน่ารังเกียจที่สุด

 

          บุหรี่เป็นติ่งหนึ่งของอบายมุขปากประตูสู่ความหายนะ จึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกระทั่งจะติดตามข้อมูลสถิติเกี่ยวกับคนเสพไม่ว่าจะทั้งในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ไม่อยากจะยุ่ง

 

          สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ในประชาชนไทยในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง แต่พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยรุ่นชายถึง 1 เท่าตัว แล้วนั่นก็เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

          เมื่อกลางปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนภัยไปยังนานาประเทศให้ช่วยกันปกป้องผู้หญิงจากอุตสาหกรรมยาสูบ ที่กำลังมุ่งทำการตลาดกับผู้หญิง และเด็ก หลังทำการตลาดกับผู้ชายจนถึงจุดอิ่มตัวโดยหากแนวโน้มยังคงเป็นอยู่อย่างในขณะนี้แล้ว คาดว่าในหมู่คนรุ่นต่อๆ ไปจะมีผู้หญิงที่สูบบุหรี่เป็นจำนวนมากขึ้นสามเท่า และในจำนวนนี้ มากกว่า 200 ล้านคน จะเสียชีวิตเนื่องจากการสูบบุหรี่

 

          ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 9 จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีข้อมูลจากการวิจัยอย่างน้อย 2 ชิ้นที่ชี้ให้เห็น “จุดเสี่ยงสำคัญ” อันเป็นพื้นที่เริ่มสูบสูบประจำ และสูบหนัก ของผู้หญิงไทย นั่นคือในสถานบันเทิง

 

          ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง พฤติกรรมและทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงไทยจัดทำโดย ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบคโพลล์) ได้ทำการสำรวจวัยรุ่นหญิงไทยอายุ 15-25 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าวัยรุ่นหญิงไทยปัจจุบันนิยมสูบบุหรี่ในสถานบันเทิงมากที่สุด คือ ร้อยละ 68.5 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่สูบบุหรี่ รองลงมาคือ ที่บ้านร้อยละ 52 ที่ทำงาน ร้อยละ 28.5

 

          ด้านสถานที่ที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรก พบว่าเกิดที่สถานบันเทิงมากที่สุดเช่นกัน

 

          ผลสำรวจนี้ระบุว่า คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีอัตราการสูบบุหรี่ “สูบมากกว่า”คนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบว่าตัวอย่างวัยรุ่นหญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 37.0 คนที่ดื่มเป็นบางครั้งมีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 17.7 ในขณะที่คนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอัตราการสูบบุหรี่เพียงร้อยละ 2.9

 

          รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล นำเสนอผลวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เรื่อง บุหรี่ในสถานบันเทิงจากนโยบายสู่การปฏิบัติ พบว่า สถานบันเทิงเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงสูบและติดบุหรี่ โดยในกลุ่มนักเที่ยวผับ บาร์ ที่สูบบุหรี่ทั้งหมดเป็นผู้หญิงร้อยละ 28 แบบแผนการสูบบุหรี่ของผู้หญิงที่พบในสถานบันเทิงคือ สูบตั้งแต่ 5 มวนถึง2 ซองต่อการเที่ยวแต่ละครั้ง ซึ่งมากกว่าการสูบในชีวิตประจำวันเท่าตัว และจะสูบบุหรี่ในผับบาร์พร้อมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเมื่อเห็นคนข้างๆ สูบบุหรี่ สูบเพื่อฆ่าเวลาเมื่อต้องนั่งรอเพื่อนอยู่คนเดียว สูบแก้เขินสูบเมื่อเริ่มคุยกับเพื่อน และสูบก่อนหรือหลังกินอาหาร

 

          มีอีกหลายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอ้างว่าเป็นแรงจูงใจให้สูบบุหรี่ของผู้หญิงจนทำให้สถิติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีตัวเลขสูบมากกว่าฝ่ายชาย สถิติดังกล่าวก่อให้เกิดความห่วงกังวลถึงอันตรายด้านต่างๆ ทั้งแก่ร่างกายและสังคมจึงเกิดข้อเสนอแนะในการรณรงค์เรื่องการสูบบุหรี่ของผู้หญิง ในกลุ่มวัยรุ่นหญิงด้วยกันมีความเห็นว่า ควรมีการนำเสนอโทษและพิษภัยของบุหรี่ให้ชัดเจนขึ้นเน้นการรณรงค์แก้ปัญหาในกลุ่มเด็กวัยรุ่นมากขึ้น

 

          ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ให้ความเห็นต่อข้อค้นพบจากงานวิจัยดังกล่าวว่า สถานการณ์ที่สะท้อนผ่านงานวิจัยเหล่านี้ชี้ไปในทางเดียวกันว่า สถานบันเทิงเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่สุดที่บริษัทบุหรี่ใช้ “จับ” ผู้หญิงให้สูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังเผยให้เห็นประเด็นสำคัญอีกด้านหนึ่งคือสะท้อนถึงความย่อหย่อนของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบ

 

          “จากสถานการณ์ที่มีการพบการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบันเทิงอยู่ทั่วไปอีกทั้งในสถานที่นี้ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเช่นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มูลนิธิฯ และภาคประชาสังคมที่รวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ขอเรียกร้องให้ผู้หญิงไทยปฏิเสธการเป็นพริตตี้ให้กับสินค้ายาสูบ”

 

          ต้องร่วมมือกันสกัดมัจจุราชร้ายนั้นซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

Update: 26-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ