ผักสดปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย

ผักสดและผลไม้ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเรา เป็นอาหารที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบการขับถ่ายดีขึ้น อย่างไรก็ตามผักสดและผลไม้ ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ ถ้าหากผักสดและผลไม้นั้นมีการปนเปื้อนเชื่อโรค พยาธิ และสารเคมีอันตราย แม้ในปัจจุบันจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีลง หรือส่งเสริมให้มีการผลิตผักสด ผลไม้ปลอดสารพิษก็ตาม ก็ไม่ทำให้มั่นใจได้ เนื่องจากยังมีการนำสารเคมีอื่นๆ มาแช่ให้ผักสดขาว กรอบ น่ารับประทาน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราควรรู้ถึงอันตราย วิธีหลีกเลี่ยงและการลดอันตราย ดังนี้


ผักสดปลอดพิษ  ชีวิตปลอดภัย


อันตราย 3 ประการ


1. อันตรายจากเชื้อโรค และพยาธิ


เนื่องจากขบวนการปลูก บางแห่งอาจใช้อุจจาระคน หรือสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ย ซึ่งอาจทำให้มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ตัวอ่อนของพยาธิเชื้อโรคระบบทางเดินอาหารชนิดต่างๆ โดยทั่วไปผักที่มักพบไข่พยาธิ หรือตัวอ่อนพยาธิ ได้แก่ ผักที่ใบไม่เรียบ และกลีบใบซ้อนกันมากๆ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ต้นหอม สะระแหน่ เป็นต้น หากบริโภคผักสดและผลไม้ที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดจะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง โรคบิดไทฟอยด์


2. อันตรายจากสารพิษตกค้าง


ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีทางเกษตรเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลาย มีสารเคมีที่ใช้กันมากมายหลายชนิด แม้ว่าจะมีหน่วยงานควบคุมดูแลการนำไปใช้ก็ตาม อาจจะมีผู้ใช้ที่ขาดความรู้และความเข้าใจที่ดี เช่น การใช้มากเกินปริมาณที่กำหนดใช้ร่วมกันหลายชนิด การเก็บผลผลิตก่อนระยะเวลาที่สารเคมีจะสลายตัวหมดทำให้มีสารเคมีตกค้างอยู่ในผักสด โดยเฉพาะผักที่นิยมบริโภค เช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ที่มักตรวจพบสารเคมีตกค้างอยู่เสมอ รวมทั้งอาจมีสารพิษที่ตกค้างอยู่ในดิน และน้ำที่เป็นแหล่งปลูกอีกด้วย ซึ่งสารเคมีที่ได้รับบางชนิดจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติ มีอาการชาตามใบหน้า ลิ้น และริมฝีปาก ชัก สารเคมีบางชนิดอาจทำลายเอนไซม์ของระบบประสาท ถ้าได้รับปริมาณมากจะปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ กระตุก เป็นต้น


3. อันตรายจากการใช้สารเคมีเติมแต่งผักและผลไม้


เกิดจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เพื่อทำให้ผักสด ผลไม้ ดูสดหรือมีสีสันขาวสะอาดน่ารับประทานทั้งนี้เนื่องจากพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด ได้มีการพยายามทำให้ผักสดคงสภาพสดอยู่เสมอ ไม่เหี่ยวหรือเน่าเสีย โดยมีการนำสารเคมีประเภทฟอร์มาลีนหรือบอแรกซ์ผสมน้ำมาราด หรือแช่ผักสด รวมทั้งการใช้สารไฮโดรซัลไฟต์หรือโซเดียมไฉโดรซัลไฟต์มาแช่ผักสด ประเภทข้าวโพดอ่อน ขิงหั่นฝอย เพื่อทำให้มีสีขาวน่ารับประทาน ซึ่งหากล้างไม่สะอาดเหลือตกค้างในผักสด จะทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตรายได้ และการใช้สารเคมีฟอกขาวดังกล่าวกับอาหารมีความผิดกฎหมาย


การหลีกเลี่ยง


การเลือกซื้อผักสดให้สะอาด ปลอดภัยจากอันตรายของพิษภัยที่ปนเปื้อนมากับผักสดที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้จักวิธีเลือกซื้อผักสดที่สะอาด ปลอดภัยไว้บริโภคดังต่อไปนี้ คือ


1. เลือกซื้อผักสดที่สะอาด ไม่มีคราบดินหรือคราบขาวของสารพิษกำจัดศัตรูพืชหรือเชื้อราตามใบ ซอกใบ หรือก้านผัก ไม่มีสีขาวหรือกลิ่นฉุนผิดปกติ


2. เลือกซื้อผักสดที่มีรูพรุนเป็นรอยกัดแทะของหนอนแมลงอยู่บ้าง ไม่ควรเลือกซื้อผักที่มีใบสวยงาม เพราะหนอนกัดเจาะผักได้แสดงว่ามีสารพิษกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายมาก


3. เลือกซื้อผักสดอนามัยหรือผักกางมุ้ง ตามโครงการพิเศษของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแหล่งปลูกที่เชื่อถือได้อื่น ๆ เช่น เลมอนกรีน เป็นต้น และสับเปลี่ยนแหล่งซื้ออยู่เสมอ


4. เลือกกินผักตามฤดูกาล เนื่องจากผักที่ปลูกได้ตามฤดูกาลจะมีโอกาสเจริญเติบโตได้ดีกว่านอกฤดูกาล ทำให้ลดการใช้สารเคมี และปุ๋ยลง


5. เลือกกินผักพื้นบ้าน เช่น ผักแว่น ผักหวานผักติ้ว ผักกระโดน ใบย่านาง ใบเหลียง ใบยอ ผักกระถิน ยอดแค หรือผักที่สามารถปลูกได้เองง่าย ๆ


6. ไม่กินผักชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินให้หลากหลายชนิด สับเปลี่ยนกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับพิษสะสมและได้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ


การลดพิษภัย


การล้างผักสดลดพิษภัย เพื่ออนามัยครอบครัว ในการเลือกซื้อผักสด ผลไม้ หากไม่แน่ใจว่าผักสดที่จะซื้อมาบริโภคปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่ การรู้จักวิธีการล้างผักที่มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางที่ปลอดภัย เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างในผักสดหรือผลไม้ได้


1. ปอกเปลือกหรือลอกเปลือกชั้นนอกของผักสด หรือผลไม้ออกทิ้ง แกะเป็นกลีบหรือแกะใบออกจากต้นหรือตัดส่วนขอบรอบนอกแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด


2. ล้างผักสดด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบ ถู หรือล้างด้วยการใช้น้ำก๊อกไหลผ่านผักสดนานอย่างน้อย 2 นาที หรือใช้สารละลายอื่นๆ ในการล้าง ดังนี้


2.1 ใช้น้ำเกลือ (เกลือ 2 ช้อนโต๊ะพูนต่อน้ำ 4 ลิตร)


2.2 ใช้น้ำปูนคลอรีน ความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม (โดยผสมผงปูนคลอรีน 1/2 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนรินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมน้ำสะอาด 20 ลิตร)


2.3 ใช้น้ำส้มสายชู (น้ำส้มสายชู 1/2 ถ้วยต่อน้ำ 4 ลิตร)


2.4 ใช้น้ำโซดา (โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร)


2.5 ใช้น้ำยาล้างผัก (ตามวิธีที่ผู้ผลิตแนะนำ) แล้วจึงนำผักสดมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งก็สามารถลดหรือขจัดพิษภัยต่างๆ ในผักสดออกได้ ผู้บริโภคก็จะปลอดภัยในการบริโภคผักสด


3. ผักที่มีลักษณะเป็นหัว ผล หรือ ผลไม้ที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น มีวิธีการล้าง ดังนี้


3.1 ล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิม (ประมาณ 10-20 เกล็ด) + น้ำส้มสายชู (1 ช้อนโต๊ะ) + หยดสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 20 หยด แช่นาน 5 นาที โดยใช้มือถูตามผิวของผล แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 1-2 ครั้ง


3.2 การล้างด้วยน้ำและลอกเปลือกทิ้ง


วิธีการล้างต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการลดสารเคมีกลุ่มที่ไม่ดูดซึม ได้แก่ เมทธิลพาราไธออน มาลาไธออน ได้ตั้งแต่ 6% – 92%  อาจจะใช้แปรงขนอ่อนถูตามผิว ซอกของผลไม้หรือผักสด จะช่วยทำความสะอาดได้มากขึ้น จะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามความสะดวกและเหมาะสม


“ถ้าง่ายๆ สะดวก ประหยัด และเป็นวิธีการที่แนะนำ” ได้แก่ วิธีการลอกเปลือกทิ้ง แช่น้ำ 10 – 15 นาที และล้างด้วยน้ำไหลผ่าน 2 นาที เพราะจากการศึกษาของกรมวิชาการเกษตร การลอกเปลือกทิ้ง สามารถลดสารเคมีที่เกาะติดตามผิวผลไม้ได้มากที่สุดถึง 92% ไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ แต่อาจเปลืองน้ำและสูญเสียคุณค่าทางอาหารไปบ้าง


 


 


ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

Shares:
QR Code :
QR Code