ผักพื้นบ้าน-อาหารพื้นถิ่น ช่วยให้สุขภาพดี

มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

 

          ผักพื้นบ้านเป็นผักที่ขึ้นอยู่ริมรั้วบ้านหรือตามหัวไร่ปลายนา ที่ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นวัชพืชไร้ค่า รุงรัง ทั้งๆ ที่ผักเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสรรพคุณทางยามากมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้แล้ว เมื่อนำมาประกอบอาหารยังเปรียบเสมือนยาหม้อใหญ่ที่มีอยู่ในครัวเรือน

 

ผักพื้นบ้าน-อาหารพื้นถิ่น ช่วยให้สุขภาพดี

          ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านหลายๆ อย่างถูกกลืนหายไปตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องผักพื้นฐาน ซึ่งนับวันจะมีคนรู้จักและนำมาประกอบการอาหารลดน้อยลงไปทุกวัน “เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชนตำบลตำนาน” เพื่อศึกษารวบรวมและฟื้นฟูองค์ความรู้จักผักพื้นบ้าน และสร้างความตระหนักให้ชุมชนเห็นความสำคัญของอาหารพื้นบ้านที่ส่งผลต่อสุขภาพ และสร้างความตระหนักให้ชุมชนเห็นความสำคัญ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

          นางชุติมา เกื้อเส้ง หัวหน้าโครงการและประธานเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ทำงาน พบว่าชาวบ้านหลายรายป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทุกคนมีแนวคิดอยากปลูกผักกินเองเพื่อป้องกันโรคภัยจากสารเคมีที่แฝงมากับอาหารที่ซื้อมาจากตลาด แต่จากการพูดคุยกันพบว่าชาวบ้านหลายคนไม่มีความรู้ว่าผักพื้นบ้านนั้นมีประโยชน์ รวมถึงไม่รู้วิธีการปรุงอาหารจากผักเหล่านี้ เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประกอบอาหารถูกกลืนหายไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงวางแผนการทำงานจากปัญหาตรงนี้

 

          “โครงกรนี้เริ่มจากการสร้างชุดองค์ความรู้ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของผักพื้นบ้านโดยร่วมกับแกนนำชุมชนลงสำรวจ พบว่ามีผักพื้นบ้านมากถึง 126 ชนิด บางชนิดก็เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ขี้พร้าไฟ ฟักข้าว หนาวชิด ซึ่งผักพื้นบ้านยังไปเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของชุมชนและสภาพสังคม เพราะการเกษตรแผนใหม่ทำให้ผักพื้นบ้านหลายชนิดสูญหาย ที่สำคัญผักพื้นบ้านยังมีประโยชน์มากมายทั้งสรรพคุณทางยาถ้ารู้จักใช้ ปลูกเองก็ประหยัดและปลอดภัยไร้สารพิษ” นางชุติมากล่าว

 

          นายสรรค์ อัศโรดร อายุ 66 ปี แพทย์ขึ้นบ้านและกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า ผักพื้นบ้านส่งผลดีต่อสุขภาพเพราะขึ้นเองตามฤดูกาล ไม่ต้องลงทุนดูแลรักษาปุ๋ยและสารเคมีก็ไม่ต้องใช้ แต่ปัจจุบันนี้ขาดการอนุรักษ์และไม่เห็นความสำคัญ ทำให้ผักพื้นบ้านถูกทำลายไปโดยไม่รู้ตัว

 

          “ปัจจุบันคนป่วนด้วยโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจกันมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการกินอาหารที่มันและหวานเกินไป โรคเหล่านี้ถ้าเข้าใจและหันมากินเปรี้ยวให้มากกว่าอาหารที่มัน และหันมากินอาหารพื้นบ้านก็จะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างน้ำพริกที่ทุกชนิดจะมีมะนาว หัวหอม กระเทียม พริกขี้หนู สมุนไพรเหล่านี้จะช่วยละลายไขมันได้ เมื่อรวมกับวิตามินและเกลือแร่ที่ได้จากผักนานาชนิดเช่น สะตอ กระโดน ก็จะช่วยได้ ตามที่ได้รับการถ่ายทอดมาแทบจะไม่ต้องศึกษาเรื่องโปรตีนคาร์โบไฮเดรต อะไรเลย เพราะภูมิปัญญาโบราณนั้นมีความสมดุลในธาตุต่างๆ ของร่างกายและอาหารอยู่แล้ว” นายสรรค์ระบุ

 

          นางรมย์ เกื้อเส้ง อายุ 54 ปี แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่ 13 ต.ตำนาน เล่าว่า ทุกวันนี้ซื้อผักจากตลาดน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเก็บผักฟื้นบ้านจากริวรั้วที่มีอยู่มากมาย ทั้งตำลึง ผักหวานมะเขือ จะซื้อแต่วัตถุดิบที่จำเป็นและหาไม่ได้ในชุมชนเท่านั้น

 

          “ส่วนมากคนในท้องถิ่นจะไม่ค่อยสนใจผักพื้นบ้าน เพราะมันยุ่งยาก บ้างก็ขี้เกียจไปเก็บไปหา ซื้อเอาดีกว่า เพราะสะดวกสบาย แต่การทำกับข้าวโดยใช้ผักพื้นบ้านช่วยประหยัดได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 50 บาท เวลาทำเสร็จก็อธิบายให้คนในครอบครัวรู้ว่าผักเหล่านั้นมีประโยชน์อะไร บอกสรรพคุณให้เขาได้รู้ว่ากินแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง ปัจจุบันจึงมีคนในหมู่บ้านหันมาสนใจกันมากขึ้น” นางรมย์กล่าว

 

          นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผอ.สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. เปิดเผยว่า ถ้าชุมชนหันมาสนใจปลูกผักพื้นบ้าน แล้วมีการพัฒนาตำรับอาหารหรือเมนูอาหารที่อาจจะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยบ้าง ก็คิดว่าน่าจะจูงใจให้คนหันมาบริโภคผักพื้นบ้านกันมากขึ้น เพราะบางคนมีผักพื้นบ้านดีๆ คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วว่ากินอย่างไรให้อร่อย มีประโยชน์อะไร นำไปปรุงอาหารได้อย่างไร โครงการนี้จะส่งผลดีกับชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกันมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update 18-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code