ผักผลไม้ ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ที่มา: มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
แฟ้มภาพ
พืชผักที่ใช้เป็นอาหาร บางครั้งถ้ารับประทานมากเกินไป หรือใช้ผิดส่วนของพืช ก็จะทำให้เกิดพิษ หรือมีอาการแพ้ เนื่องจากแต่ละคนไวต่อสารแพ้ต่างกัน ฉะนั้น การรับประทานผักผลไม้จะต้องสังเกตว่ามีอาการแพ้หรือไม่ และไม่ควรรับประทานผักที่กล่าวมาในปริมาณมาก และควรระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ปริมาณสูง ได้แก่ มันสำปะหลัง โกฐน้ำเต้า ผักโขม ผักแพว ปวยเล้ง มะเฟืองเปรี้ยว ใบชะพลู แคร์รอต ใบยอ หัวไชเท้า กระเทียม ลูกเนียง และหลีกเลี่ยงการบริโภคผักผลไม้ที่มี ปริมาณโพแทสเซียม (Potassium) สูง ได้แก่ ผักโขม หน่อไม้ ทุเรียน กล้วย แก้วมังกร ส้ม กีวี ฝรั่ง น้อยหน่า
ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับสัตว์ เลือดสัตว์ เครื่องใน และผักผลไม้ที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพรา ผักเม็ก ยอดมะกอก ยอดกระถิน
ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรระวังการบริโภคกะหล่ำปลี เทอร์นิป Horseradish และเมล็ดพันธุ์ผักกาดชนิดต่าง ๆ เช่น เมล็ดผักกาดสีดำขาว และน้ำตาล เนื่องจากจะทำให้เกิดเป็นโรคคอหอยพอก แต่สารพิษเหล่านี้จะถูกทำลายได้โดยการต้ม จึงควรรับประทานกะหล่ำปลีสุกจะดีกว่ากะหล่ำปลีดิบ
ผู้ป่วยโรคกระเพาะและลำไส้ พริกเป็นทั้งเครื่องเทศและยาสมุนไพร พริกแทบทุกชนิดมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ทำให้เกิดความเผ็ดร้อน พบมากในรากและเมล็ด สารดังกล่าวมีคุณสมบัติลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ หากรับประทานในปริมาณมากจะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบได้ และผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ถ้ารับประทานพริกในปริมาณมากจะทำให้โรคมะเร็งกำเริบ