ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย

    /data/content/26272/cms/e_bjkltuxz1278.jpg      


         "ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย" ข้อความนี้เริ่มกล่าวถึงกันมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะสังคมเริ่มตื่นตัวในเรื่องสุขภาพ หลังกระแส "บริโภคนิยม" อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ต้อง เร่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการ จนละเลยคุณภาพของอาหาร ทำให้เกิด ผลกระทบต่อภาวะสุขภาพและภาวะโภชนาการของคนไทยทั้งในระยะสั้น และระยะยาว


           อุทัย อัตถาพร นายกสมาคมเสริมสร้างพัฒนาชุมชนและสังคม มองว่า กระแสผักปลอดสาร อาหารปลอดภัยนั้น ยังอยู่ในกลุ่มของคนระดับกลางที่อยู่ใน เมืองใหญ่ๆ ส่วนคนระดับล่างยังไม่นิยมมากนัก อาจจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ ที่สินค้าประเภทนี้มีราคาจะสูง กว่าปกติ ทั้งที่ความจริงมีสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ ที่ราคาแพงมาก คนก็ยังซื้อหากันได้ แม้แต่คนระดับล่างเองก็ยังใช้ ดังนั้นเราต้องมองว่าอาหารเป็นสินค้าพิเศษที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป


           นายกสมาคมฯ บอกว่า ส่วนผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึง ผู้บริโภคว่าจะมีสุขภาพอย่างไร จะได้รับ ผลกระทบจากอาหารแค่ไหน ฉะนั้น การตลาดจึงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่า จะเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคเพื่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหนด้วย ขณะที่การจัดจำหน่ายพบว่า ร้านที่จำหน่ายสินค้าจากธรรมชาติ สินค้าที่ปลอดสารพิษมีมากขึ้นซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะ ถ้าหากว่าผู้บริโภคไม่หลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีสารพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ในระยะสั้น อาจทำให้แพ้สารพิษ หรือในระยะยาวก็จะทำลายไต และเป็นมะเร็ง ฉะนั้นถ้าหากเราหลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีสารพิษได้ก็จะเป็น


/data/content/26272/cms/e_aghlmopstxy9.jpg


ผลดีต่อสุขภาพ


           เมตตา คำพิบูลย์ เจ้าหน้าที่จาก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มองว่า การได้บริโภคผักต่างๆ  ที่ปลอดภัยจากสารพิษในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี และแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากร่างกายขาดอาหารประเภทผักหรือได้รับไม่เพียงพอ หรือ บริโภคผักที่มีสารพิษตกค้างในปริมาณมากเข้าไปจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำงานได้ไม่ปกติ อาจ เกิดอาการผิดปกติขึ้น ทำให้ความต้านทานโรคต่าง ๆ ของร่างกายลดลง เพราะฉะนั้นผักจึงเป็นพืชที่นิยมบริโภคกันทุกครัวเรือน โดยจะสังเกตได้จากอาหารเกือบทุกชนิดจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบในการชูรสอาหารจานโปรดให้มีรสชาติดีขึ้น หรือใช้ประดับจานอาหารให้สวยงาม น่ารับประทานยิ่งขึ้น


           เจ้าหน้าที่สำนักโภชนาการผู้นี้ เห็นว่า ในสังคมทุกวันนี้ ทุกคนต่างมองเห็น ความสำคัญเฉพาะหน้าที่ งานของตัวเอง  โดยลืมมองให้เลยไกลออกไปถึงวิถีชีวิต และการงานของผู้อื่นบ้าง อย่างผู้ผลิตก็ทำหน้าที่ผลิตไป ทำอย่างไร วิธีใดก็ได้ขอให้มีผลผลิตออกมา จะใส่สารเคมีให้ผู้บริโภคได้รับไปบ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยอะไร เมื่อคนเราเห็นอาหารเป็นเพียงสินค้า ผู้ผลิตจะไม่คำนึงถึง ผู้บริโภคว่าจะได้รับพิษภัยจากอาหารนั้น แค่ไหน ด้านผู้บริโภคเองก็ทำหน้าที่บริโภคอย่างเดียว พยายามขวนขวายหาเงินหาทองเพื่อให้ได้ซื้อสินค้าหน้าตาสวยๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่มิได้มองว่ากว่าที่ผู้ผลิตจะได้ผลผลิตเหล่านั้นมา ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการที่ยากลำบากมากมายเพียงใด


          "ถึงเวลาแล้วที่ศีลธรรมทางการผลิตและบริโภคต้องเกิดขึ้นเพื่อความเอาใจใส่ต่อกันและกันของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเมื่อนั้นอาหารจะเป็นอาหารที่ดี


          ขณะที่ กรธวัช อยู่ยัง เจ้าหน้าที่โครงการพ่อค้าแม่ขายเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีและสารพิษมีผลต่อระบบนิเวศ คือต้องใช้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกร และผู้บริโภคเองก็ต้องได้รับพิษภัยจากสารพิษเหล่านั้น ยิ่งใช้ปุ๋ยก็ยิ่งทำให้พืชอ่อนแอ เหมือนคนกินมากจะอ้วนแต่ไม่แข็งแรง ศัตรูของพืชก็ทำลายได้ง่าย จึงต้องใช้สารเคมีในการกำจัด /data/content/26272/cms/e_cfghjmq12579.jpgและต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเมื่อแมลงเกิดการพัฒนา ภูมิต้านทานขึ้นเรื่อยๆ


           "เกษตรกรบางครั้งเขาเองก็ไม่กินข้าวที่เขาปลูก ผักเขาที่ปลูกไว้กินเองก็ไม่ใช้สารเคมี ฉะนั้นผู้บริโภคจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีมากที่สุด ผู้บริโภคเองก็ต้องกิน กินต่อเนื่อง ชีวิต ก็ย่ำแย่ เรื่องนี้เราต้องสร้างมาตรฐาน ทางศีลธรรม จริยธรรม เรื่องของการผลิตและการบริโภคขึ้นมาใหม่"


           เจ้าหน้าที่โครงการพ่อค้าแม่ขายเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ระบุว่า ตอนนี้ตลาดผักปลอด สารพิษเกิดขึ้นแล้ว ราคาก็ถูกลงกว่า แต่ก่อนมากเพราะเราช่วยกันซื้อมากขึ้น กลุ่มเกษตรกรสนใจทำมากขึ้น ราคาก็เลย ถูกลง อย่างเช่นที่ตลาดตลิ่งชัน ตลาด คลองสวน 100 ปี ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี ตลาดบางน้ำผึ้ง สมุทรปราการ ตลาด ดอนหวาย นครปฐม พลังของผู้บริโภคนั้น สามารถเป็นแรงผลักดันให้มีการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมต่างๆ ที่สำคัญในสังคมได้ การช่วยกันซื้อสินค้าปลอดสารพิษจาก ตลาดต่างๆ ก็จะได้สินค้าที่มีราคาถูกลง เนื่องจากปริมาณซื้อเป็นจำนวนมาก  ค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็จะลดลงไป


            "ถ้าทุกคนช่วยกันซื้อสินค้าปลอด สารพิษมากๆ ในอนาคตตลาดของสินค้าประเภทนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาทดแทนสินค้าที่เจือปนสารพิษได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน" กรธวัช ทิ้งท้าย


 



          ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย กรธวัช อยู่ยัง


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code