‘ผักปลอดสาร’ สร้างอาชีพชุมชนท่าอิฐ
ชุมชนบ้านเอื้ออาทรท่าอิฐ สร้างอาชีพ ปลูกผักปลอดสารพิษ สู่ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน
แฟ้มภาพ
การปลูกพืชผักปลอดสารพิษไม่ได้มีไว้แค่รับประทานกันเองในครอบครัวหรือเพื่อเชิงธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอีกด้วย อย่างเช่นชุมชนบ้านเอื้ออาทรท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี ที่มีคุณวราเทพ ภู่คงพันธุ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการนิติบุคคล หนึ่งในโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กระทรวงพัฒนาสังคมฯ นั้น ก็ได้ใช้การปลูกผักปลอดสารพิษเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจนอกเหนือจากการบริโภคกันเองภายในชุมชน
การปลูกผักที่ว่านี้มีการร่วมกันปลูก แบ่งปันกันรับประทาน หรือขายในราคาถูก โดยไม่ได้หวังเรื่องกำรี้กำไร เพราะมันไม่ได้มีผลผลิตมากมาย แต่สิ่งที่ชุมชนจะได้คือความร่วมแรงร่วมใจกัน มีการพรวนดิน รดน้ำ และดูแลของกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในแต่ละอาคารที่ร่วมกันทำ โดยใช้พื้นที่ส่วนกลาง ส่วนผลผลิตที่ได้ก็จะแบ่งปันกันและมีการแจกจ่ายระหว่างกันด้วย โดยที่นิติบุคคลจะทำเป็นแปลงตัวอย่างใน 3 ฤดูการผลิตแรก จนเมื่อมีผลผลิตฤดูที่ 4 จะเปิดจำหน่ายให้สมาชิกในชุมชนในราคาที่ไม่แพง โดยผักที่ปลูกก็จะเป็นพืชผักที่นิยมบริโภคทั่วไป อาทิ ผักบุ้ง ผักกาดขาวเล็ก และผักกวางตุ้ง
"ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวก็แบ่งปันกันบ้าง ขายบ้าง ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องเงินทอง เพราะมีนิดเดียว เช่นเดียวกับกล้วยที่ปลูก พอแก่จัดก็ตัดเครือ แจกคนละหวีสองหวี เหลือก็ขาย คนในอาคารก็อยากซื้อ เพราะเป็นของสด ปลอดสารพิษ"
คุณวราเทพขยายแนวคิดต่อว่า การร่วมกันทำแปลงก็ดี ร่วมปลูกหรือกระทั่งขายผักปลอดสารพิษ เป็นการใช้เวลาว่าให้เป็นประโยชน์ ได้ออกกำลังกายไปในตัว และเป็นการก่อตัวของความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจากที่ไม่เคยคุยกันก็เริ่มคุยกัน ทักทายกัน พ่อแม่คุย กันลูกๆ ก็พลอยรู้จักกัน ไม่ตีกัน ซึ่งประเด็นหลังตัวเองมองและให้ความสำคัญกว่าอย่างอื่น
นอกจากนั้นในชุมชนยังมีโรงเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานขนาด 5,000 ก้อน ผลิตเห็ดป้อนคนในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากงบกองทุนหมู่บ้าน และสสส. โดยยึดแนวปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นผลักดันให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
อาจกล่าวได้ว่าชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้นหามีสูตรสำเร็จรูปไม่ เพราะต่างพื้นที่ต่างเงื่อนไข ต่างปัจจัย หากแต่ต้องใช้การบริหารที่เหมาะสมกับสภาพ การทุ่มเททำงานของฝ่ายบริหาร และการชักนำให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลชุมชน ดังเช่นที่เห็นอยู่ในชุมชนอาคารชุดบ้านเอื้ออาทรท่าอิฐ ถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์เป็นเครื่องมือขยายผลในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนอย่างมีความสุขและยั่งยืนเป็นสำคัญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ