ผักปลอดสารบ้าน ‘แม่อาว’ แหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสู่ครัวเรือน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
จากการสำรวจข้อมูลด้านสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ พบว่าโรคภัยต่างๆ กำลังคุกคามชาวบ้านแม่อาว ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมะเร็ง ทำให้แกนนำชาวบ้านบางคนเริ่มตื่นตัว และเล็งเห็นว่าพืชผักที่ชาวบ้านนำมารับประทานไม่มีความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่ซื้อจากตลาด ทำให้มีสารเคมีปนเปื้อนสูง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหันมารับประทานพืชผักที่ปลูกเองแทน
ทีมงาน "ท่องโลกเกษตร" เสาร์นี้ลงพื้นที่บ้านแม่อาว ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เพื่อไปดูวิถีเกษตรชุมชนของคนแม่อาวที่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรจากการใช้สารเคมีมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ 100% หลังพบ ว่าสุขภาพของผู้คนเริ่มย่ำแย่ เป็นผลอานิสงส์มาจากการ บริโภคพืชผักที่ปนเปื้อนสารเคมีและการใช้สารเคมีจำพวกยาปราบวัชพืช ยาฆ่าแมลงที่ไม่ถูกวิธีทำให้สารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย
รจนา ยี่บัว ประธานกลุ่มแม่บ้านแม่อาว เล่าให้ฟังว่า จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ จึงช่วยกันรณรงค์ในหมู่บ้านให้หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างเช่น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าต้องบริโภคผักผลไม้วันละ 400-600 กรัม จึงจะสามารถลดภาระโรคต่างๆ ได้แก่ หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงกำหนดการบริโภคผัก ผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อคนต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การบริโภคผัก ก็อาจจะไม่ปลอดภัย เพราะพืชผักที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ ล้วนมีสารเคมีเจือปน หากรับประทานเข้าไปมากๆ แทนที่จะได้ประโยชน์อาจจะได้รับโทษกลับมาแทน ด้วยเหตุนี้ทางชาวบ้านแม่อาวจึงขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ชุมชนบ้านแม่อาว เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักและบริโภคอาหารที่ปลอดภัย
"การปลูกผักกินเอง ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคน อาจมองว่าการซื้อผักมากินง่ายกว่า จริงๆ แล้วการที่เราปลูกผักไว้กินเองง่ายกว่า จะกินเมื่อไหร่ก็ไปเด็ดสดๆ ได้เลย พอผลผลิตได้เยอะเหลือกินก็แบ่งปันกันไป เกิดวิถีชีวิตของคนในชุมชน เครือญาติมีการเกื้อกูลกัน ชาวบ้านก็เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ใครอยากได้ผักอะไร รู้ว่าบ้านไหนปลูกก็ไปขอเก็บกินได้" รจนาแจงข้อดีของการปลูกพืชผักไว้รับประทานเอง
เธอบอกว่า แม้ตอนนี้โครงการจะจบไปแล้ว แต่ยัง รู้สึกภูมิใจที่ได้นำโครงการจาก สสส.เข้ามาทำในชุมชน แม้จะไม่ใช่งบประมาณก้อนใหญ่ แต่กลับได้รับอะไรมากมาย นอกเหนือจากสุขภาพที่ดีขึ้น ประหยัดรายจ่ายแล้ว ยังเกิดความร่วมมือของคนในชุมชน เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มทำไม้กวาด กลุ่มเลี้ยงไก่ ชาวบ้านไม่ได้หยุดอยู่กับที่
ขณะที่ จำเนียน ใจยา สมาชิกโครงการ เล่าเสริมว่า โดยส่วนตัวประกอบอาชีพแม่ค้า เมื่อก่อนไปซื้อผักจากตลาด มาขาย ก็มองเห็นว่าชุมชนมีปัญหาสุขภาพของชาวบ้าน ไม่ค่อยดี กำไรก็น้อย ไม่พอใช้ พอมีโครงการปลูกผัก ปลอดสารเข้ามา ก็ถูกแกนนำชุมชนถามว่าจะเข้าร่วมไหม พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านบริโภคผักปนเปื้อน สารพิษทั้งนั้น โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านกินอาหารและพืชผักที่ปลอดภัย จึงคิดว่าถ้าเราขายผักที่ปลอดภัยให้ลูกค้า ทั้งตัวเราและลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคก็จะปลอดภัยด้วย
"แต่ละบ้านปลูกผักแตกต่างกันไปแล้วแต่ความชอบและความต้องการของแต่ละครัวเรือน พอได้ผลผลิตมากก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน เหลือกินก็แบ่งขาย เรียกว่าทำโครงการนี้ แล้วสบายใจ สุขภาพก็ดีขึ้น ไม่เจ็บป่วย เงินทองไม่ขาดมือ มีไว้จับจ่ายตลอด เพราะเราปลูกเองขายเอง ลดต้นทุน ได้เยอะ ตื่นเช้าสามีก็เข้าไปดูสวน มืดค่ำจึงจะกลับบ้าน แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ตื่นเช้าต่างคนต่างไปทำงาน คนละทิศ ละทาง สามีไปรับจ้างสร้างบ้าน ไม่มีเวลาทำงานร่วมกัน คุยกัน ก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้มีอะไรก็ปรึกษากัน ว่าเราจะปลูกอะไรก่อน อะไรหลัง ทำแล้วมีความสุขกาย สบายใจ" สมาชิกโครงการรายเดิมกล่าวย้ำ
ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่อาว กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบใน ต.ยางคราม เป็นที่สนใจของหมู่บ้านใกล้เคียง และนำแนวคิดไปเขียนโครงการขอกองทุนท้องถิ่น จนได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ต.ยางคราม 10,000 บาท เพื่อให้ชาวบ้านจำนวน 115 ครัวเรือน ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็จำหน่ายโดยมีพ่อค้าแม่ค้าใน ตลาดแม่อาวมารับซื้อผลผลิตเกือบทุกวัน