ผสานสัมพันธ์สูงวัย รักษาวัฒนธรรมกลอง
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
แฟ้มภาพ
วัดไทยสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก ยังคงมีกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งใช้เวลาว่าง รวมกลุ่มตีกลองอืด พร้อมฟ้อนรำ ฟ้อนดาบกันอย่างสนุกสนาน เพื่อให้พร้อมสำหรับวันที่มีงานบุญประเพณีที่สำคัญ เหนือไปกว่านั้น คือการสืบทอดให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนได้มาหัดเล่น หัดตี เครื่องดนตรีล้านนา
พ่อหนานดวงดี ใจพรมเมือง สมาชิกชมรมผู้สูงอายุวัดไทยสามัคคี เล่าถึงการตีกลองอืดว่า สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยจะตีกลองอืดฟ้อนรำกันในวันพระใหญ่ วันเข้าพรรษา วันยี่เป็ง สงกรานต์ งานกฐิน ปกติจะตีกันในวัด เพราะกลองอืดมีขนาดใหญ่เคลื่อนย้ายลำบาก แต่มีบ้างที่ในอดีตจะใส่เกวียนลากไปตีไปแห่รอบชุมชน กลองจะสนุกสนานก็ต้องมีเพื่อนช่วย คือพวกฉาบ ฆ้อง ซึ่งเครื่องดนตรีทุกชิ้นจะต้องเล่นสอดรับกันอย่างลงตัว รู้ใจ จะยิ่งทำให้วงสนุกสนาน แต่ชิ้นที่สำคัญสุด คือ ฉาบ ที่เป็นคนกำหนด และคุมจังหวะว่าควรช้าหรือเร็ว ถ้ามีฟ้อนรำ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง ร่วมด้วยจะยิ่งครบเครื่องมากยิ่งขึ้น
ความยากง่ายในการถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ นั้น ทุกอย่างต้องใช้เวลาเล่นอย่างช่ำชอง ทางกลุ่มผู้สูงอายุจะให้เด็กฝึกเล่นเครื่องดนตรีทุกชนิด แล้วค่อยมาดูว่าคนไหนถนัด และควรจะเล่นชิ้นไหน เพราะไม่ใช่ว่าใครจะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ ได้ เช่น กลองอืด จะใช้มือพันผ้าตีต่างจากกลองชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ไม้ตี ซึ่งพ่อหนานดวงดี อธิบายเหตุผลนี้ว่า ถ้าใช้ไม้ตี พอไม้กระทบหนังกลอง เสียงจะดังแป๊บเดียวจะเงียบและไม่ทรงพลัง แต่ถ้าใช้มือ เสียงจะกังวานมีพลังนุ่มนวลกว่า แต่ใช่ว่าใครก็ตีได้ เพราะคนเข้าใจเท่านั้นจะตีได้ บางคนตัวใหญ่ตีไม่มีเสียงออกมาสู้คนตัวเล็กไม่ได้ก็มี
ขณะเดียวกันทางชมรมผู้สูงอายุวัดไทยสามัคคี ยังได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น "ตีกลองอืด" เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการต่อยอดและสืบทอดการอนุรักษ์ดนตรีล้านนา โดย พิทักษ์ ใจพรมเมือง ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ตอนแรกผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ยอมรับว่าไม่อยากให้เด็กเล็ก ๆ มาเล่น อยากสอนให้กลุ่มวัยรุ่นมากกว่า แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจ ก็ต้องหันมาสอนเด็ก ๆ ระดับประถมศึกษาแทน เพราะถ้าไม่สืบทอดศิลปะแขนงนี้ ก็จะสูญหายไปจากชุมชน
ส่วนหยก อุดมสารี วัย 10 ขวบ บอกถึงความรู้สึกที่มาเล่นเครื่องดนตรี ล้านนาว่า เคยลองเล่นกีตาร์มาแล้ว แต่ไม่ชอบ พอเพื่อน ๆ เริ่มมาเล่นเครื่องดนตรีล้านนา ก็ตามเพื่อนมาลองเล่นดู รู้สึกสนุก ตอนนี้มีหน้าที่เป็นมือตีฆ้อง ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่กระทบการเรียนด้วย