ผสานพลังขจัดบุหรี่ไฟฟ้า ล็อคสถานศึกษาปลอดสิ่งเสพติด

ที่มา:  งานประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครปลอดบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด

                  หลังจากโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 109 แห่ง ประกาศเจตนารมณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และสิ่งเสพติด  พร้อมนำตัวแทนนักเรียน 400 คน มาสร้างเป็นแกนนำในการลด ละ เลิก บุหรี่ในโรงเรียน แต่กระบวนการอย่างไรให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่กล้ำกรายเข้าไปในโรงเรียนได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

                  นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เล่าว่ากระบวนการทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน สิ่งสำคัญต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่ไม่ชอบคำสั่ง ยิ่งห้าม ยิ่งทำ แต่ต้องใช้ความรู้ชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านเพื่อน และผ่านสื่อในหลายรูปแบบ โดยเนื้อหาต้องไม่วิชาการมากเกินไป และต้องสมดุลข้อมูลให้ดีให้เด็กได้มีข้อมูลมาโต้แย้ง ว่าบุหรี่ไฟฟ้าดีอย่างไร เทียบกับผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งต้องให้เด็กรู้ได้ด้วยตัวเอง ส่วนการรณรงค์ลด ละ เลิก อาจใช้มาตรฐานทางสังคมมาบังคับกลายๆ เช่นการนำเด็กกลุ่มเสี่ยงสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นแกนนำและให้ข้อมูลกับเพื่อนๆ หรือให้เด็กๆ ออกแบบรูปแบบการรณรงค์ในกลุ่มเพื่อน เพราะเด็กด้วยกันย่อมสื่อสารเข้าใจกันที่สุด

                  “การนำเด็กกลุ่มเสี่ยงเข้ามามีส่วนรณรงค์ลด ละ เลิก บุหรี่ จะทำให้สังคมเกิดคำถามว่า คนเหล่านี้จะเลิกได้จริงหรือ เพราะเมื่อเข้าพูดและตักเตือนเพื่อน เพื่อนก็อาจคิดว่า ห้ามทำไม ในเมื่อตัวเองยังทำ เด็กเหล่านี้จะถูกกลไกของสังคม บังคับให้ตระหนัก และกลายเป็นเลิกบุหรี่ไปเองโดยไม่รู้ตัว” นายพชรพรรษ์ กล่าว

                  ส่วนบทบาทของครูในโรงเรียน เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ฯ กล่าวว่า การเพิ่มทักษะและเพิ่มความรู้เท่าทันให้กับครู เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหน้าตาของบุหรี่ไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสนิยม เช่น ทอยส์พอตที่เป็นแบบตัวการ์ตูน น่ารัก ดังนั้น การตรวจค้นอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าหน้าโรงเรียนของครู  ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทัน ซึ่งเร็วๆ นี้ ทางสถาบันยุวทัศน์ฯ จะทำคู่มือเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ให้กับคุณครูในรูปแบบภาพอินโฟกราฟฟิกแบบสั้นๆ เพียง 10 หน้าให้ใช้สื่อสารกับเด็ก ส่วนกลไกการสื่อสารต้องเน้นย้ำว่าเป็นการพูดคุยที่ไม่ใช่การออกคำสั่ง

                  นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า 5 มาตรการสำคัญที่จะนำมาใช้เพื่อให้สถานศึกษาในกทม. ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าได้แก่ 1.ประกาศให้สถานศึกษา เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า มีการติดป้ายประกาศให้ทราบอย่างชัดเจน 2.สถานศึกษากวดขันตรวจค้นบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ให้มีการพกพา 3.หลังตรวจยึดนำใส่กล่องพลาสติก หรือ Dropbox แล้วรวบรวมส่งสำนักงานเขต เพื่อส่งต่อให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นำไปทำลายต่อไป ส่วนเด็กที่พกพาบุหรี่ไฟฟ้ามา ไม่ได้รับโทษทางคดี แต่จะมีโทษในโรงเรียน 4.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ ตรวจค้นรอบสถานศึกษาระยะ 500 เมตร และ 5.ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครให้ความช่วยเหลือ หากเยาวชนประสงค์เลิกบุหรี่

                  สอดรับกับข้อมูลของ สสส. ที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กล่าวว่า 70% ของเด็กที่ริลองบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่สามารถเลิกได้ตลอดชีวิต ดังนั้น การป้องกันเยาวชนที่ดีที่สุด คือ การสร้างจิตสำนึกเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่เด็กอายุ 3-5 ปี ซึ่ง สสส. เตรียมขยายผลรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าใน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เยาวชนรู้จักปฏิเสธการยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ช่องทางการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าระบาดมากอยู่ในโลกออนไลน์ ทาง สสส. กทม. และ สถาบันยุวทัศน์ฯ เตรียมหารือร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาช่องทางปราบปราม

                  “การให้ความรู้กับเยาวชนอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะเด็กไร้เดียงสา ต้องเพิ่มความตระหนักรู้ไปด้วย บุหรี่ไฟฟ้าจึงจะป้องกันได้ หากรู้แต่ไม่ตระหนัก เช่น ทอยส์พอต ชัดเจนว่าเป็นการเลียนแบบของเล่น และเป็นการล่าเหยื่อให้เด็กตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการปราบปรามทางผู้ปกครองต้องเป็นเกราะป้องกันให้กับลูก” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                  ขณะที่ผลกระทบทางสุขภาพและสังคมจากสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กอายุ 13-15 ปี  พบว่า 17.6% หรือเกือบ 1 ใน 5 ของเด็กมัธยมต้นของไทย สูบบุหรี่ไฟฟ้าและแนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง อีกทั้งรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ให้เหมือนของเล่น ตั้งใจทำให้เด็กเข้าใจผิดคิดว่าไม่อันตราย แต่ความจริงนิโคตินเป็นสารเสพติดมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเทียบเท่าเฮโรอีน ทำลายสมอง ทำให้หงุดหงิดง่าย ปวดหัว วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน อีกทั้ง องค์การอนามัยโลกยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ ยิ่งสูบ ยิ่งติด ยิ่งตาย

                  “ที่น่ากังวล คือ บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีสารนิโคตินเท่ากับบุหรี่ 20 ซอง หรือบุหรี่ 400 มวน เสพติดง่ายกว่า เลิกยากกว่า ทำลายสมองมากกว่า ส่งผลต่อสุขภาพและการเรียน เพราะสมองของคนเราจะเจริญเติบโตกระทั่งอายุ 25 ปี ต่างประเทศมีรายงานพบเด็ก 1 ขวบ ตายจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เพราะฤทธิ์นิโคตินอันตราย ส่วนในไทยมีข่าวเด็ก 1 ขวบ สูบบุหรี่ไฟฟ้า ถ้าไม่ได้สูบจะร้องงอแง นี่คือการเสพติด” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

                  บทลงโทษทางกฎหมายสำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้น ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 4 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดในเรื่องของการห้ามนำเข้า 2.คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 กำหนดห้ามขาย และห้ามให้บริการ 3.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ห้ามนำเข้า และห้ามครอบครอง 4.พ.ร.บ.ควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีทั้งในส่วนของโทษปรับและโทษจำคุกด้วย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอีกด้วย เพราะได้รับผลกระทบจากสารนิโคติน ยิ่งการระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีรสอ่อน ยิ่งเป็นการทำการตลาดต่อเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน

                  “ต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยมี หลักสำคัญจำง่ายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า มี 2 เสี่ยงสำคัญ คือ 1 เสี่ยงสุขภาพ 2 เสี่ยงถูกดำเนินคดี เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ห้ามครอบครอง สูบผิดที่ผิดทางถูกดำเนินคดี บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องเล็กต้องมีการบังคับใช้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าจริงจัง” ดร.วศิน กล่าว

                  คำง่าย ๆ ไม่เอา ไม่ลอง บุหรี่ไฟฟ้า ที่เด็ก ๆ ต้องกล้าพูด กล้าปฏิเสธด้วยตัวเอง จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ชุดเดิม แค่นิโคตินอันตราย แต่ต้องตระหนักรู้และเข้าใจกลไกของบุหรี่ไฟฟ้า ว่า อนุภาคของการเผาไหม้ขนาดเล็กลึกลงถึงขั้วปอด ดังนั้นงานป้องกันเยาวชนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องผสานพลังทุกภาคส่วน

Shares:
QR Code :
QR Code