ผสานความต่างสร้าง ‘องค์กรแห่งความสุข’
ในสภาพสังคมปัจจุบัน การทำงานในองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ การเจอะเจอกับโครงสร้างของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละสังคมที่แตกต่างกันในเรื่องของช่วงวัย ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้บริหาร และของเพื่อนร่วมงานที่จะต้องก้าวผ่านอุปสรรคในเรื่องนี้ไปให้ได้
ปัญหา Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย ของสมาชิกในองค์กรต่างๆ เป็นอีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วนในบ้านเรา เนื่องจากปัจจุบัน คนมีแนวโน้มที่จะเกษียณอายุช้าลง เมื่อพวกเขาสุขภาพแข็งแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่ที่ก้าวออกจากรั้วสถาบันการศึกษา ก็เลือกที่จะเดินหน้าทำงานมากกว่าที่จะศึกษาต่อ ในขณะเดียวกัน ประชากรกลุ่มที่อยู่ตรงกลางซึ่งเป็นวัยทำงานเต็มตัว ก็ยังไม่มีแผนการจะเกษียณตัวเองก่อนกำหนด เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่รัดตัวผลักดันให้พวกเขาต้องยึดโยงอาชีพการงานเป็น หลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิต
เรากำลังกล่าวถึง 3 เจเนอเรชั่นที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบ้านเราในปัจจุบัน เจเนอเรชั่นที่มีความต่าง ทั้งด้านความคิด ทัศนคติ และที่สำคัญคือ แรงจูงใจและความทุ่มเทในการทำงาน
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ร่วมกับ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงานเสวนาเชิงวิชาการ ภายใต้หัวข้อเรื่อง The Perfect TRI-GENs InnoSync : To Build Your Own Innovative Organization สมานสามความต่าง อย่างสร้างสรรค์ สู่องค์กรนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบโดยเป็นการเปิดเผยผลสำรวจการทำงาน และเก็บตัวอย่างข้อมูลจากองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 12 แห่ง เพื่อศึกษาโครงสร้างเชิงประชากรศาสตร์ของคนทำงานในแต่ละองค์กร มุ่งหวังการลดปัญหาช่อว่างทั้งเรื่องความคิด ทัศนคติ และการลงมือปฏิบัติของคนต่างวัย และเพื่อให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นสุข
ปัจจุบัน เจนเนอเรชั่นในองค์กรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามช่วงอายุ ได้แก่ เบบี้บูมเมอร์ส (Baby Boomers) คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 คนกลุ่มนี้จะมีลักษณะเป็นคนยึดมั่น ไม่เปลี่ยนแปลงความคิดง่ายๆ บางครั้งจึงถูกมองว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม หรือไม่ก็หัวเก่าไปเลย
ต่อมาคือ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) หรือที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2519 คนกลุ่มนี้คือกลุ่มวัยกลางคนที่ยินดีรับการเปลี่ยนแปลง ใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้ดี ให้ความสำคัญต่อสัมพันธภาพทั้งเพื่อนร่วมงานและครอบครัว
และสุดท้าย เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) คือคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2520-2537 ซึ่งจะมีลักษณะคือ คนกลุ่มนี้จะให้ ความสนใจเทคโนโลยีอย่างมาก มีความสามารถในการทำงานหลายด้าน ที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร และสื่อหลายประเภท
รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ อาจารย์แพทย์สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า กระทั่งศิริราชเอง มีบุคลากรที่ประจำทำงานอยู่กว่า 14,000 คน ดังนั้นความแตกต่างเรื่องเจเนอเรชั่นรวมไป ถึงความหลากหลายทางความคิดย่อมมีอยู่บ้างเป็นเรื่องธรรมดา
"แต่คนศิริราชได้รับการปลูกฝังปรัชญา ความเชื่อ หลักคิดและค่านิยม ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้ง แนวคิดที่เป็นพระปณิธานคำสอนในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ ทำให้ความแตกต่างถูกหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"
รศ.นพ.อนุพันธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในองค์กรที่เกิดความแตกต่าง ขึ้นนั้น เพียงแค่เปิดใจ ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ ให้เกียรติกันก็จะสามารถอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมเดียวกันได้อย่างมีความสุข
ทางด้าน ศาสตรา มังกรอัศวกุล ผู้บริหารฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า "การแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างจะต้องมีค่านิยมขององค์กรเอาไว้และพนักงานต้องรับได้ โดยให้ความสำคัญที่วิธีการและที่สำคัญคือ พนักงาน ทุกคนต้องมีความสุข" ศาสตราอธิบาย
แม้ลักษณะความคิด การทำงานจะแตกต่างกัน แต่องค์กรจำนวนไม่น้อยก็ได้แสดงให้ทุกฝ่ายได้เห็นว่า การที่เราปรับตัวและปรับแผลกลยุทธ์ไปตามเจเนอเรชั่นต่างๆ รวมทั้งเปิดใจยอมรับในสิ่งที่เขาเหล่านั้นเป็น จะช่วยทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งด้วยเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต