ผลเสียต่อสุขภาพ จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

ที่มา : SOOK Magazine NO.74


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ผลเสียต่อสุขภาพ จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต thaihealth


การที่เราจะมีสุขภาพดีได้ไม่ได้อยู่แค่การกินและการออกกำลังกายเท่านั้น การใช้ชีวิตประจำวันก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน มาดูกันว่าพฤติกรรมต่อไปนี้ มีพฤติกรรมใดบ้างที่คุณอาจจะกำลังทำอยู่


การเดิน


บุคลิกการเดินของแต่ละคนแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมที่เคยชิน บวกกับ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความมั่นคงของ ข้อต่อ การเดินที่ผิดปกติจะส่งผลต่อข้อสะโพก กระดูกเชิงกราน หลัง


การเดินผิดท่าต่อเนื่องยาวนาน สะโพกจะบิดหมุน ทำให้ขาผิดรูป ข้อเสื่อม เสี่ยงต่อการเคลื่อนของข้อสะโพก กระทบโดยตรงต่อกระดูก สันหลัง


การยืน


หากเป็นผู้ที่ต้องยืนทำงานนาน ๆ มักมีอาการปวดเข่า ปวดหลัง ฯลฯ หากใส่รองเท้าที่ผิดจะเกิด แรงกระทำต่อข้อต่อของข้อเท้า ข้อเข่า อาจส่งผล ถึงคอ ทำให้คอเสื่อม กระดูกทับเส้นประสาท ปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งต้นเหตุอาจมาจากการขึ้นลง น้ำหนักขาไม่เท่ากัน เกิดความไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้สะโพกบิด กระทบต่อเนื่องไปถึงกระดูกสันหลัง


การนั่ง


โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม เมื่อหลังส่วนบนบริเวณสะบักค่อม จะทำให้หลังส่วนล่างค่อมหรือปูดออกทางด้านหลังมากขึ้น ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังมีแรงกดเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่จะปลิ้นไปทางด้านหลังได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อด้านหลังถูกยึดให้หย่อนเป็นระยะเวลานาน


การนั่งกอดอก ทำให้หลังช่วงบนสะบัก และหัวไหล่ ถูกยึดยาวออก หลังช่วงบนค่อมและงุ้มไปด้านหน้า ทำให้กระดูกคอยื่นไปด้านหน้า มีผลต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน อาจทำให้มืออ่อนแรงหรือชาได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เพราะถ้ากระดูกคอผิดรูป จะทำให้กล้ามเนื้อคอเกร็ง จำกัดการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ หรืออาจทำให้เป็นไมเกรนเรื้อรังได้


การนอน


การนอนเป็นช่วงเวลาที่ทำให้โครงสร้างร่างกายเสียสมดุลได้มากที่สุด เพราะในเวลา 6-8 ชั่วโมง หากนอนในท่าที่ผิด มีผลต่อกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ การไหลเวียนเลือด เส้นประสาท น้ำเหลือง ระบบไหลเวียนที่ต้องหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย ตื่นมาแล้วมีอาการปวดหัวไหล่ ปวดคอ ปวดศีรษะ ชามือ ชาเท้า ปวดหลัง รู้สึกเพลีย ไม่สดชื่น รู้สึกเหมือนนอนไม่พออยู่ตลอด


การหิ้วของด้วยนิ้ว


การใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อย ๆ มีผลทำให้มีพังผืดยึดตามข้อนิ้วมือ เพราะกล้ามเนื้อมือเป็นกล้ามเนื้อ มัดเล็ก มีหน้าที่หลักใช้หยิบหรือจับสิ่งที่ไม่หนัก หากต้องใช้จับหรือหิ้วหนัก ๆ จะทำให้เส้นเอ็นมีการเสียดสีและเกิดพังผืดในที่สุด ยิ่งหากนิ้วหนักมาก ๆ จะทำให้รั้งกล้ามเนื้อมัดอื่น ๆ และเกี่ยวโยงไปถึง กระดูกคอ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งมากกว่าปกติ มีผลต่อ การทรุดของกระดูกและกดทับเส้นประสาทได้ หรือ มักทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค


จากพฤติกรรมข้างต้นถ้าคุณกำลังทำอยู่ก็พยายามปรับซะใหม่นะ เพื่อสุขภาพที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code