ผลิตไฟฟ้าจากเศษรากยางพารา รับ Earth Day

 

เปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าจากรากไม้ เศษไม้ และขี้เลื่อยของไม้ยางพารา ซึ่งเป็นนวัตกรรมแห่งแรกของทวีปเอเชีย เนื่องในวันคุ้มครองโลก ประจำปี 2556

นายวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ประธานกรรมการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด หรือ “แปลนทอยส์” ผู้ผลิตและส่งออกของเล่นจากไม้ยางพารารายแรกของไทยและของโลก ได้ถือโอกาสเนื่องในวันคุ้มครองโลก หรือวันเอิร์ธเดย์ (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เพื่อเปิดตัวโครงการผลิตพลังงานจากชีวมวล หรือพลังงานสีฟ้า ด้วยการนำรากไม้ เศษไม้ และขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา ซึ่งปกติจะถูกนำไปเผาทิ้งมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และอื่นๆ อันถือเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกของทวีปเอเชีย

โครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่ม บริษัท แปลนทอยส์ และ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (E for E) โดยยื่นขอรับการรับรองโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด (CDM) และขอรับการส่งเสริมลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ด้วยงบประมาณรวม 450 ล้านบาท โดยตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลในควน อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ในเนื้อที่ 234 ไร่ เพื่อรับซื้อรากไม้ เศษไม้ และขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา วันละ 120 ตัน ในรัศมี 50 กิโลเมตร

ทั้งนี้ วัตถุดิบชีวมวลดังกล่าวซึ่งมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 40-80 สตางค์ จะถูกนำมาบดเอาขี้ดินออกเพื่อเตรียมนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวมวลในอนาคต ส่วนเนื้อไม้ที่เหลือ จะถูกนำไปผ่านกระบวนการเทคโนโลยีก๊าซฟิเคชัน โดยรากไม้ เศษไม้ และขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราที่ถูกเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ในลักษณะเดียวกับการเผาถ่าน จะก่อให้เกิดก๊าซเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์แบบลูกสูบ ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ชั่วโมงละ 4,500 กิโลวัตต์ เพื่อจ่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประมาณ 5,000 ครัวเรือน

นอกจากนั้น กระบวนการดังกล่าวยังมีผลพลอยได้เป็นถ่านไม้ (Biochar) หรือเม็ดพลังเชื้อเพลิงที่มีค่าความร้อนเทียบเท่ากับถ่านหินแบบต่ำ รวมทั้งไม้โกงกาง และกะลาปาล์ม แต่มีจุดเด่นตรงที่เมื่อนำไปเผาเพื่อใช้ประโยชน์แล้ว จะไม่ก่อให้เกิดควันที่สร้างมลพิษให้แก่สิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นที่ต้องการอย่างมากในแวดวงอุตสาหกรรม โดยมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท และถูกกว่าถ่านไม้ทั่วไปอย่างมาก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานงานทดแทนสะอาด เพื่อรองรับพลังงานธรรมชาติอื่นๆ ที่กำลังเข้าสู่วิกฤตในยุคปัจจุบัน

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ 

Shares:
QR Code :
QR Code