ผลิต”ไบโอดีเซล”ใช้ในชุมชน
ฝ่าวิกฤติน้ำมันแพง-ลดปัญหามลพิษ
ปัจจุบันความนิยมบริโภคอาหารประเภททอดเพิ่มสูงขึ้น ประเมินกันว่าประเทศไทยมีการใช้น้ำมันพืชกว่า 800 ล้านลิตรต่อปี และมีน้ำมันพืชใช้แล้วเหลือมากกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งน้ำมันพืชที่ใช้แล้วส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่และอาหารสัตว์บางส่วนถูกทิ้งสู่สาธารณะซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม บ้างถูกลักลอบนำไปผ่านกระบวนการกลับมาขายใหม่ในราคาถูกเพื่อใช้ทอดซ้ำ ซึ่งผู้ที่บริโภคอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันพืชดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและเป็นต้นเหตุของ “โรคมะเร็ง”
และจากปัญหาด้านวิกฤติพลังงานที่ส่งผลลุกลามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน “โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลและแหล่งเรียนรู้ไบโอดีเซลชุมชนตำบลท่าทอง” ของภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษาและพัฒนาเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่นำไปใช้งานได้ในระดับชุมชน ซึ่งจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง ช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
รศ.พันธ์ณรงค์ จันทร์แสงศรี หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบไบโอดีเซลฯกล่าวว่า โครงการนี้ได้ตอบโจทย์และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยคิดถึงการนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้วที่มีอยู่มากในพื้นที่ของตำบลท่าทอง และตำบลท่าโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวมหาวิทยาลัยนเรศวร มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
“จากการศึกษาพบว่า น้ำมันพืชที่ใช้แล้วเหล่านี้จะมีผู้มารับซื้อและนำไปผ่านกระบวนการที่ทำให้ใสและไม่มีตะกอน แล้วนำกลับมาขายในราคาถูก พ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านไม่รู้และเห็นว่ามีราคาถูก ก็จะซื้อแล้วนำกลับมาใช้ทอดซ้ำ ซึ่งน้ำมันที่ใช้ซ้ำเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้น ถ้าเราตัดตอนนำน้ำมันพืชเหล่านี้มาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ส่วนหนึ่งจะช่วยชาวบ้านในเรื่องของสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งก็จะช่วยให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันผลิตไบโอดีเซลไปใช้กับเครื่องจักรกลทางการเกษตร และช่วยในเรื่องการลดรายจ่ายให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้นภายใต้สภาวะที่มีวิกฤติราคาน้ำมัน” อ.พันธ์ณรงค์ กล่าว
โครงการนี้ได้ศึกษาพัฒนาออกแบบเครื่องผลิตไบโอดีเซล ที่มีขนาดกะทัดรัดสามารถนำไปใช้งานได้ในระดับชุมชนอย่างไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น และมีต้นทุนการผลิตต่อเครื่องประมาณ 45,000-50,000 บาท โดยขั้นตอนจะนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้ว 100 ลิตร มาผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “ทรานเอสเตอริฟิเคชั่น” เพื่อให้ได้น้ำมัน “ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์” จำนวน 70 ลิตร ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซลมากที่สุด เหมาะที่จะนำไปใช้กับเครื่องจักรกลทางการเกษตรขนาดเล็กแบบสูบเดียว
น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้จะมีต้นทุนประมาณ 21-22 บาทต่อลิตร ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 29-30 บาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเชื้อเพลิงไปได้ประมาณ7-8 บาทต่อลิตร โดยต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับราคารับซื้อน้ำมันพืชเก่า ลิตรละ 6-7 บาทหากเกษตรกรสามารถรวมตัวกันนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้วในครัวเรือนมารวมกันผลิตก็จะช่วยลดต้นทุนไปได้มาก
โครงการนี้ นอกจากช่วยให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง มีรายได้เพิ่ม พึ่งพาตนเองได้ เยาวชนในพื้นที่ก็จะเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและอันตรายจากน้ำมันพืชใช้ซ้ำซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยต่างๆ อีกด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยกันตัดวงจรการนำน้ำมันพืชใช้แล้วกลับมาบริโภค และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งลงสู่ธรรมชาติ ด้วยการนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอันจะนำไปสู่การเป็นชุมชนสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update: 15-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย