ผลิตอาหาร ทักษะสำคัญสู้วิกฤตโควิด-19

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ผลิตอาหาร ทักษะสำคัญสู้วิกฤติ thaihealth


แฟ้มภาพ


การขาดแคลนอาหาร เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเป็นห่วงว่า ในภาวะโควิด-19 นอกเหนือจากปัญหาคนว่างงานขาดรายได้จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่หลายชุมชนของประเทศไทย กลับแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน


อาทิ "เทศบาลตำบลไทรย้อย" อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดย ณัฐวุฒิ ใจดี รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย เล่าว่า ย้อนไปเมื่อปี 2554 คนที่นี่ตรวจพบปริมาณสารเคมีในเลือดสูง ซึ่งคาดว่ามาจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีในปริมาณมาก


จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่การขับเคลื่อนให้เกษตรกรในพื้นที่เปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกเป็นแบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วย เช่น สนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตอาหารกินเอง ปลูกผัก มีแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งต้นแบบ มีฐานเรียนรู้ต่างๆ อาทิ นาข้าวแบบดั้งเดิม โดยใช้กลุ่มผู้สูงอายุ ถ่ายทอดองค์ความรู้


"ชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำเกษตรอยู่แล้วก็ส่งเสริมให้ลดการใช้สารเคมี โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนองค์ความรู้ เก็บเมล็ดพันธุ์ ขยายพันธุ์ อนุรักษ์พันธุ์พื้นบ้าน และอบรมความรู้ ให้เด็ก เกษตรกร ซึ่งเกือบ 100% ที่ชาวบ้านปลูกผักกินเองตามฤดูกาล และผักพื้นบ้าน เช่น ขี้เหล็ก ชะอม ดอกแค ได้กินตลอดและเชื่อมกับอาหารในชีวิตประจำวัน" ณัฐวุฒิ ระบุ 


พื้นที่ต่อมาคือ "องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สำโรงตาเจ็น" อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ โดย เสน่ห์ แพงมา ปลัดอบต.สำโรงตาเจ็น กล่าวว่า เดิมในพื้นที่มีการส่งเสริมด้านการเกษตรอยู่แล้วตามหลักคิด "ปลูกผักข้างบ้าน-อาหารข้างรั้ว" ขณะที่เมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ขึ้น ก็มีการแปลงศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนให้เป็นศูนย์อาหารของชุมชน ผลิตผัก ถั่วฝักยาว ต้นห้อม ผักชี เนื่องจากเวลานั้นรถกับข้าวหยุดวิ่งและตลาดก็ปิด ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีคนในชุมชนกว่าร้อยคนที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ


"ชาวบ้านเขาก็มีผักสวนครัว ข้างบ้านมีบ่อปลา มีเล้าไก่ ขณะที่ อบต.เองก็มีศูนย์เรียนรู้เป็นคลังอาหารให้ชุมชนด้วย โดยทำแบบผสมผสาน รวมทั้งผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ มีพื้นรูปแบบเรียนรู้ หลากหลายแต่ละหมู่บ้าน ชุมชนเข้าไปดูได้ และเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก โดยเราขอความร่วมมือให้หน่วยงาน เช่น โรงเรียน วัด ทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นที่เรียนรู้ โดยมี อบต.เข้าไปหนุนเสริม ทำครบวงจรเป็นศูนย์เรียนรู้ ทั้งหมด มีหน่วยงานสาธารณะ วิทยากร เพื่อให้เขามาสัมผัสเห็น รูปธรรม มาเรียนรู้ ที่ อบต. ทำแล้วเห็นผล" เสน่ห์ ระบุ


อีกพื้นที่หนึ่งคือ "อบต.วอแก้ว" อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดย สายัณห์ ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัด อบต. วอแก้ว เล่าว่า ในทางภูมิศาสตร์แล้ว วอแก้วมีความได้เปรียบเพราะติดพื้นที่ป่าต้นน้ำ จึงมีแหล่งน้ำจากป่าโดยตรงโดยไม่ผ่านพื้นที่ใช้สารเคมี เมื่อประกอบกับคนที่นี่ไม่นิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ทำเกษตรแบบผสมผสานและเป็นเกษตรอินทรีย์ ทำให้นอกจากจะมีแหล่งอาหารในชุมชนแล้วยังสามารถส่งขายสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย ทั้งนี้ มีการกระจายศูนย์เรียนรู้ให้ครบทุกหมู่บ้าน เพื่อให้เข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายและทุกวัย


"ในส่วนของเด็กๆ เราจะมีการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ออกมาต่างหากจากกลุ่มเกษตรกร โดยเราเริ่มจากศูนย์เด็กเล็ก พยายามทำให้เขาเรียนรู้ดิน พืชผัก แบบไม่ต้องอธิบายมากให้สัมผัสลงมือ จับดินถอนผัก เพื่อให้เขาซึมซับวิถีชีวิตเกษตรแบบดั้งเดิมของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย กระบวนการทำเกษตร มันจะต้องเรียนรู้ปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่จัดประชุม เบิกงบรัฐ แต่เราต้องเน้นลงมือปฏิบัติในแปลงจริง ชาวบ้านเข้ามาทำ และเราพยายามสร้างแปลงเรียนรู้เพื่อให้เขาเปรียบเทียบข้อแตกต่าง อินทรีย์กับสารเคมี" สายัณห์ กล่าว


จากตัวอย่างทั้ง 3 ชุมชน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า 1.การมีอาหารจะช่วยได้มากในพื้นที่ ต้องมีการเตรียมความพร้อมพอสมควร พึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด 2.ถ้าไม่ทำก็ต้องกระตุ้น ต้องทำให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชนอยู่พอกินได้ หากไม่มีพื้นที่ ก็มีที่สาธารณะ มีพื้นที่ของคนที่เต็มใจให้ เพื่อให้เป็นส่วนกลาง


กรณีที่เกิดฉุกเฉินจะใช้พื้นที่เหล่านั้นเป็นที่สร้างอาหาร เป็นคลังอาหารให้กับชุมชนได้ ใครขาดแคลนก็มาขอหรือมาใช้ หรือมาหาอาหารจากคลังอาหารตรงนี้ ไม่มีความจำเป็นมากที่จะได้รับการหนุนเสริมจากข้างนอก นอกเสียจากเฉพาะกรณีที่มีปัญหาเท่านั้น และ 3.มีศูนย์เรียนรู้ และผู้สอนอย่างมืออาชีพ มีประสบการณ์จากความสำเร็จของตนเองก่อนนำมาถ่ายทอด สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาในชุมชน รวมถึงการใช้กองทุนต่างๆ ที่ท้องถิ่นมีเพื่อสนับสนุน


ปิดท้ายด้วย ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวสรุปว่า "ทักษะชีวิตใหม่ต้องสร้างอาหารเป็น" เมื่อวิกฤติมาจะไม่ลำบาก ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีชุมชนเป็นฐานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหารแม้ขณะนี้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่จะไม่ได้ดำเนินการเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ก็ถือว่ามีการขยายและเดินหน้าทำเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

Shares:
QR Code :
QR Code