ผลิตภาพ-ความยั่งยืนขององค์กร ภารกิจสร้างได้ไม่เกินเอื้อม

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักองค์กรสุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

การขับเคลื่อนองค์กรให้มีพร้อมทั้งเรื่อง ผลิตภาพ (productivity) และ ความยั่งยืน (sustainability) ในโลกยุคใหม่นั้น เป็นเรื่องเป็นไปได้ “ผมเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้หากองค์กรมองเห็นถึงคุณค่าของคนจริงๆ” นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักองค์กรสุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว
 

เพราะผลลัพธ์ธุรกิจล้วนเกิดขึ้นจากคนทั้งสิ้น และมีอยู่ 3 เรื่อง ที่คุณหมอบอกว่า โลกธุรกิจในวันนี้และวันข้างหน้าจะพูดถึง คำสามคำ ที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ อีกทั้งอาจจะอยู่คู่กับโลกไปอีกเป็นร้อยๆ ปี เรื่องแรกก็คือ คน หรือ ทุนมนุษย์ ซึ่งความเป็นจริงหลายองค์กรยังไม่เคยคำนึงถึงมูลค่าและคุณค่าเท่าไหร่นัก

คำว่า ป๋า เจ๊ เฮีย ในแต่องค์กร จู่ๆ จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่คนนั้นต้องใช้เวลาในการสั่งสมบ่มประสบการณ์ให้คนภายในองค์กรเห็นคุณค่า ให้การยอมรับ ป๋าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกชอบเลี้ยงอีหนู แต่เป็นคนที่ชอบให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับพนักงานคนอื่นๆ ในขณะที่ผู้บริหารรุ่นใหม่กลับมองคนพวกนี้ว่า เชยโบราณ และรีบเขี่ยโละทิ้งให้พ้นๆ ไป

เรื่องที่สอง คือ ผลิตภาพ คนเก่งไม่พองานก็ต้องเก่งด้วย นั่นหมายถึงงานใหม่ที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นในทุกๆ วัน ซีเอสอาร์ หรือ องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือ เรื่องที่สาม องค์กรในยุคนี้ต้องมีภาพลักษณ์ดี มีค่าในสายตาของคนในสังคม ชุมชน

คุณหมอบอกว่า หากองค์กรที่ยังมองไม่ครบ และยังไม่คิดที่จะปรับตัว ก็อาจต้องตกขบวนเดินทางต่อไปได้อย่างลำบาก สำหรับทุกๆ องค์กรที่ล้วนตระหนักถึงความอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น คุณหมอให้พินิจถึง “มะพร้าว” โดยนัยก็คือ ตัวเราเองเท่านั้นที่จะทำให้เรารอด และเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมะพร้าวมีเปลือกที่คอยพยุงให้สามารถลอยอยู่ในน้ำได้ และเมื่อลอยไปจนได้เจอแผ่นดิน ก็สามารถงอกเงยเติบใหญ่ขึ้นเป็นต้นมะพร้าวได้ด้วยมันเอง..หาได้มีใครบังคับไม่

ส่วนองค์กรนั้น จะเป็นเหมือนมะพร้าวได้ ก็ต้องวกมาที่เรื่องของคน…เช่นเคย แต่ความสำเร็จของคนนั้น เกิดขึ้นได้จากสองกระบวนการ คือ หนึ่ง ทำให้เกิดความสำเร็จได้โดยต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ หรือคนอื่นๆ มาชวน คนจะพัฒนาได้มากน้อยเพียงไรนั้น องค์กรมีส่วนสำคัญที่จะดีไซน์ความเป็นไปได้

คุณหมอได้ยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ของประเทศสิงคโปร์ว่า เขาออกแบบคนของเขามาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ว่าคนสิงคโปร์ต้องไม่เป็นแรงงาน แต่ต้องทำงานในระดับผู้จัดการขึ้นไปเท่านั้น และไม่ใช่เฉพาะทำงานกับองค์กรในสิงคโปร์เท่านั้น แต่กับองค์กรในทุกๆ ประเทศทั่วโลก คนสิงคโปร์ เขาก้าวบันไดไปถึงขั้นของ “พลเมืองโลก” แล้ว คำถามก็คือ เรายังคิดจะเป็นเพียงพลเมืองไทย และเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นพลเมืองไทยเท่านั้นหรือ?
 

“มันสำคัญที่มุมคิด อย่าถามว่าคนที่สำเร็จว่าเขาทำอย่างไรเพราะจะเป็นแค่เพียงผู้ตาม แต่ควรจะพิจารณาและถามว่าเขาคิดอย่างไร” คุณหมอชาญวิทย์ กล่าว

และเมื่อรู้จักคิดก็จะพบวิธีการหลากหลายที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ หากเป็นอดีตคงเป็นความคิดที่เพี้ยนเอามากๆ ถ้าหากจะทำพัดลมที่ไม่มีใบพัด เป็นไปได้อย่างไร แต่ปัจจุบันมีคนที่ผลิตพัดลมไม่มีใบพัดเป็นผลสำเร็จ โดยมีรูปทรงเป็นท่อลมที่พัดลมให้เย็นได้จริงๆ เพราะที่ผ่านมาเราติดที่กระบวนการแต่ไม่ได้มองไปที่ผลลัพธ์ ว่าที่แท้เราต้องการใบพัด หรือลมกันแน่

คุณหมอบอกอีกว่า คนนั้นพร้อมที่จะพัฒนา พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา และพร้อมจะทำงานอย่างมุ่งมั่น หากได้รับความยอมรับได้รับ ความไว้วางใจ มีคนเห็นคุณค่าและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และไม่เชื่อว่าการที่คนขอเออร์ลีรีไทร์ เพื่อออกไปใช้ชีวิตสบายๆ อยู่ไปวันๆ จะมีความสุข ตรงกันข้ามรังจะเกิดความเศร้าซึม รู้สึกว่าไร้ค่าและอาจลงเอยที่การคิดสั้นเอาง่ายๆ 

รวมถึงยังมองว่าคนไทยเองยังมีปัญหากับการวิเคราะห์สถานการณ์ หรือ swot analysis ทั้งๆ ที่รู้จักมานาน และที่จริงก็ใช้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน

“ลองคิดดูว่า ตื่นเช้ามาเราต้องคิดวิเคราะห์หรือเปล่า ว่าจะรถติดหรือเปล่านะ ลองเช็คข้อมูลจราจร เพื่อจะหาเส้นทางที่จะไปให้ถึงได้เร็ว จะว่าตัวเองไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่เป็นได้อย่างไร กลายเป็นโอกาสให้ฝรั่งมาขายบริการให้คำปรึกษาในเรื่องนี้กับเรา”

ในเมื่อคนมีความสำคัญ องค์กรจะต้องทำอย่างไร

องค์กรที่จะประสบความสำเร็จจึงต้องสร้างทีมที่มีความไว้วางใจ เชื่อมั่นในกันและกัน แม้ในทีมจะมีแต่คนเก่งทุกคน แต่ถ้าไม่ไว้วางใจกัน เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ก็ไม่มีวันชนะแต่ทีมที่อาจไม่ได้มีคนเก่งเลิศเลอเพอร์เฟคท์ แต่ไว้วางใจกันเต็มที่ เพื่อนต้องทำได้สุดท้ายก็กอดคอกันคว้าชัยชนะ 

ทำหน้าที่ “ตัวเรา” ให้ดีที่สุด แม้จะเป็นถ้อยคำที่ดี แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเปลี่ยนเป็นทำหน้าที่ “พวกเรา” ให้ดีที่สุด องค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ต้องยอมรับและเคารพบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน องค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ต้องทำให้พนักงานเห็นคุณค่าของงานและบริการที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นงานของพนักงานผู้น้อยหรือผู้บริหารเบอร์หนึ่งก็ตาม องค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ต้องผลักดันให้คนพร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และองค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ต้องทำให้คนพร้อมรับมือต่อทุกๆ การเปลี่ยนแปลง

คุณหมอบอกว่า เรื่องของ “คน” ซึ่งเป็นคำนามต้องอาศัยการ “คน” ซึ่งเป็นกิริยาให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่มีคนสามเจเนอเรชั่นที่สไตล์ รสนิยม ความคิด ความเชื่อ ต่างกันราวฟ้ากับเหว…แตกต่างได้แต่ (อย่าแตกแยก) ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน พี่ชายชอบฟังเพลงป๊อป น้องชายฟังร็อค อีกคนชอบแร็พ ก็ยังอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้ประสาอะไร

“ที่ผ่านมา องค์กรมักจะมองไปที่เรื่องงานแค่ขาเดียว แต่ความสำเร็จอยู่ที่การมองให้ครบทั้งสองขา คือเรื่องของงาน และเรื่องของคน คนต้องตอบโจทย์กับงาน งานก็ต้องสอดรับกับคน” คุณหมอกล่าว

แต่หากองค์กรเห็นค่าของคนอย่างแท้จริง และมุ่งมั่นพัฒนาให้เติบโตเคียงคู่ไป คุณหมอก็เลยฟันธงอีกครั้งในฐานะวิทยากรหัวข้อ mission possible: how leaders drive productivity and organizations sustainability ว่า… “มันเป็นไปได้แน่นอนครับ”

เรียบเรียงโดย: ชนิตา ภระมรทัต

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

update:12-01-54

อัพเดทเนื้อหาโดย :ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน 

Shares:
QR Code :
QR Code