ผลสำรวจพบสื่อผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศ

 

สำรวจพบสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์ผลิตซ้ำความรุนแรง และยังนำเสนอละครซิทคอมและข่าวผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วยอคติและมุมมองจำกัด

นางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ และนางจิตติมา ภาณุเตชะ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ร่วมนำเสนอผลการศึกษาปรากฏการณ์ความรุนแรงและอคติทางเพศ ที่ปรากฏในละครซิทคอมทางฟรีทีวี และหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับในปี 2555 พบว่า การนำเสนอของละครซิทคอมไทยเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2550 ยังนำเสนอภาพเหมารวมและค่านิยมอคติในรูปแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ผู้ชายจะได้รับบทบาทเด่น เป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนผู้หญิงจะได้รับบทบาทรองลงมา มักได้รับความสำคัญในฐานะคนรักของผู้ชาย จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายเรื่องแรงกาย ความรัก และการทำงาน ส่วนชายรักเพศเดียวกัน ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้เป็นตัวประกอบ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ ผ่านความประหลาด หรือถูกนำเสนอว่าเป็นคนลามก หมกมุ่นทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังพบค่านิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิง คือค่านิยมที่ยอมรับว่าผู้หญิงสามารถแสดงออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความรักและหน้าที่การงาน

ส่วนหนังสือพิมพ์ ผลการศึกษาพบว่าภาพรวมยังนำเสนอข่าวผ่านฐานความคิดเรื่องเพศ ซึ่งขาดมุมมองทางสังคม ได้แก่ ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ และข่าวความรุนแรงในครอบครัว เน้นนำเสนอสาเหตุในการกระทำความรุนแรงที่มาจากเหยื่อ ข่าวการท้องไม่พร้อม การทำแท้ง และการทิ้งเด็กทารก ขาดการเชื่อมโยงบริบททางสังคม และมีอคติชี้เป้าปัญหาไปที่ผู้หญิง ว่าเป็นปัญหาของผู้หญิงใจแตก หรือไร้การศึกษา และข่าวรูปลักษณ์ความงาม เน้นการนำเสนอผู้หญิงในฐานะคนไร้เหตุผล อยากสวยจนขาดสติ เช่น ข่าวทำศัลยกรรมแล้วเสียชีวิต แต่ก็พบประเด็นข่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ ข่าวการล่อลวงค้าประเวณี โดยเฉพาะข่าวการค้าบริการข้ามชาติ ที่เจาะลึกถึงประเด็นปัญหา และเปิดช่องทางองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ และข่าวเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มีการนำเสนอสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศและเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทั้ง 2 สื่อ พบว่าเพศหญิงและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ยังคงถูกนำเสนอผ่านสื่อด้วยอคติและมุมมองที่จำกัด สื่อจึงควรเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และขยายทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องค่านิยมทางเพศ โดยมีสถาบันสื่อและหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ ทำหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อได้พัฒนามุมมองในประเด็นเพศและแจ้งเตือนผู้ชมในฐานะผู้รับสาร ให้เปิดรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณ และเกิดทัศนคติใหม่ๆ ต่อผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี
ด้าน รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า สื่อมวลชนควรเปิดเวทีให้สื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อด้วยกันเอง รวมทั้งเชิญคนภายนอกเข้ามาร่วม นอกจากนี้ ควรลดอคติและปรับกระบวนทัศน์เรื่องความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

Shares:
QR Code :
QR Code