ผลสำรวจผลกระทบจากการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรี

ที่มา : เครือข่ายเยาวชนป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่


ภาพประกอบจากเครือข่ายเยาวชนป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่


ผลสำรวจผลกระทบจากการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรี thaihealth


เครือข่ายเยาวชนป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ใกล้สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่


โดยมีการเก็บแบบสำรวจจำนวน 445 ชุด ระหว่างวันที่ 11 ถึง 14 พฤษภาคม 2560 โดยเก็บพื้นที่ในกลุ่มเยาวชนนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของกลุ่มเยาวชนนักศึกษาของเครือข่ายฯ พบว่าในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2560 มีแนวโน้มในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผ่านเทศกาลดนตรี เกิดขึ้นในทุกๆ สัปดาห์ และยังพบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีกิจกรรมเวทีส่งเสริมการตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่า 10 เวทีดนตรี


จากผลสำรวจพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่รู้จักกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านเทศกาลดนตรี ร้อยละ 100 และร้อยละ 78.9 เคยไปร่วมกิจกรรมเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นโดยกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีแนวโน้มที่จะจัดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผ่านเทศกาลดนตรีเนื่องจากมีดารานักร้องที่ชื่นชอบซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมของเยาวชนและมีกลุ่มเพื่อนที่มีอิทธิพลคิดเป็นร้อยละ 83.3 พร้อมทั้งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมฟรีคอนเสิร์ต แต่เยาวชนยังมีค่าใช้กับการดื่มเฉลี่ยนคนละ 500 – 1,000 บาท/ครั้ง และเมื่อสอบถามถึงปัญหาที่พบในช่วงการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันดับ 1 มองว่าเป็นเรื่องของการเมาแล้วขับ ร้อยละ 63.2 อันดับที่ 2 เสียงดังรบกวนทั้งเสียงดนตรีและเสียงดังจากผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 57.9 อันดับที่ 3 การทะเลาะวิวาทในกลุ่มเยาวชน ร้อยละ 57.8


ส่วนผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นกับตัวกลุ่มเยาวชนนักศึกษาจากการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับพบว่า อันดับที่ 1 รู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตในหอพักและมหาวิทยาลัย อันดับที่ 2 เสียงดังรบกวน และอันดับที่ 3 สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายกับเทศกาลดนตรีที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


นายธนวัฒน์ วงศ์ใจ ผู้ประสานงานเครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าหากปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีส่งเสริมการดื่มในกลุ่มเยาวชนในพื้นที่โดยรอบสถาบันการศึกษาจะเป็นการสร้างนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมยังจะเป็นการสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการจัดกิจกรรมดนตรีคือกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะได้ประชาสัมพันธ์สินค้าและส่งเสริมการขายไปในตัว แต่ผลกระทบวงกว้างกับเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และประชาชนในพื้นที่ หากเปิดโอกาสให้มีการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีบ่อยมากขึ้นเพียงใด ก็อาจจะนำไปสู่การดื่มของเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมจะเกิดผลกระทบในวงกว้างตามมาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบส่วนตัว ผลกระทบต่อสังคม สาธารณะ พร้อมทั้งเครือข่ายยังมีข้อเสนอแนะต่อจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้ 1.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยที่เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบการจัดกิจกรรมของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อาทิ การจำกัดเสียง / เวลา / ความปลอดภัยในพื้นที่โดยรอบ /พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  2.ควรมีการยกเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผ่านกิจกรรมดนตรีในช่วงที่มีการสอบของนักศึกษา อย่างน้อย 15 วัน ( 2 อาทิตย์ ) 3.ขอให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษา/ผู้นำนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการตันสินใจในการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. ควรงดเว้นการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรีของกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัศมี 500 เมตรรอบสถาบันการศึกษา และควรงดการจำหน่ายและการดื่ม พร้อมทั้งเครือข่ายฯ จะร่วมในการจัดเก็บข้อมูล ปรากฏการณ์ มานำเสนอต่อจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เพื่อร่วมในการลดผลกระทบจากการดื่มต่อกลุ่มเยาวชน นักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง 

Shares:
QR Code :
QR Code