ผลวิจัยพบเด็กหูหนวกมีเซ็กซ์เร็ว

เสี่ยงโรคระบาดและเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

 ผลวิจัยพบเด็กหูหนวกมีเซ็กซ์เร็ว

          เปิดผลวิจัยพบเด็กนักเรียนหูหนวกมีสุขภาวะย่ำแย่   เสี่ยงโรคระบาดและมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร   เหตุเนื่องจากการสื่อสารด้วยภาษามือทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น   ระบุล่ามภาษามือในโทรทัศน์ทำเร็วเกินไป และใช้คำยากๆ ทำให้การสื่อสารบกพร่อง

          ดร.จิตประภา  ศรีอ่อน อาจารย์ประจำวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องการรับรู้ด้านสุขภาพของกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน  เปิดเผยว่า  จากการศึกษาวิจัยนักเรียนกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา  ยังมีปัญหาด้านสุขภาพค่อนข้างมาก  ทั้งนี้ ในโรงเรียนไม่มีครูพยาบาลโดยตรง มีแต่ครูอนามัยที่มีวุฒิสาขาวิชาสุขศึกษา ทำให้ไม่สามารถดูแลเด็กเจ็บป่วยได้   ส่วนผู้เรียนมีปัญหาด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย ขณะเดียวกันครูผู้สอนไม่สามารถสื่อกับนักเรียนได้อย่างที่ต้องการ   เพราะมีปัญหาด้านการสื่อสารด้วยภาษามือ

          ดร.จิตประภากล่าวว่า  ปัญหาด้านสุขภาพที่พบในทุกโรงเรียนโสตศึกษา คือเด็กเล็กที่อยู่ประจำไม่สามารถดูแลตัวเองด้านสุขภาพได้   ทำให้เกิดปัญหาด้านร่างกาย   การแต่งกายสกปรก  ทำให้เกิดโรคระบาด  เช่น  โรคตาแดง  หัด หวัด เหา และหิด นอกจากนี้สุขภาพปากและฟันของเด็กก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ เด็กจำนวนมากมีอาการฟันผุ

          “นอกจากนี้ปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่นเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย   โดยมีแนวโน้มจะมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นและจำนวนเพิ่มมากขึ้น   เพราะการสื่อสารของผู้พิการทางหูจะต้องใกล้ชิดกันมาก เนื่องจากใช้ภาษามือ   ทุกๆ ครั้งที่มีการสื่อสารจะต้องจ้องมองดวงตากัน ทำให้เด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเกิดอาการอ่อนไหวกับเพศตรงข้าม และนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ในที่สุดดร.จิตประภาเผย

          ส่วนการสื่อสารเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินนั้น   ดร.จิตประภา ผู้ทำวิจัยกรณีดังกล่าวบอกว่า  ภาษามือที่ใช้สื่อสารนั้น  เด็กผู้พิการทางการได้ยินไม่สามารถรับสารได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์   ส่งผลให้การรับรู้ด้อยประสิทธิภาพลงไป อย่างเช่นเด็กคนหนึ่งไปโรงพยาบาล  เพราะรู้ว่าไม่สบาย  แต่ไม่สามารถบอกหมอได้ว่าเป็นอะไร เรื่องแบบนี้เกิดกับเด็กที่พิการทางหูแทบจะทุกคน  ส่วนล่ามภาษามือในโทรทัศน์นั้น ในงานวิจัยระบุว่า ล่ามทำเร็วเกินไป ใช้ภาษาค่อนข้างยาก ผู้รับสารไม่สามารถรับสารได้ทั้งหมด

          “สังคมควรจะตระหนักรู้ว่าการเป็นคนหูหนวกก็เป็นเช่นนั้นเอง   ต้องเข้าใจพวกเขา แม้กระทั่งคนปกติดีก็ไม่สามารถให้ใครเป็นอย่างตัวเราได้ เราต้องมองเขาอย่างที่เขาเป็น และเราควรทำอะไรให้เขาอย่างที่เขาต้องการอาจารย์ประจำวิทยาลัยราชสุดา  ม.มหิดล กล่าว

          ทั้งนี้   โครงการวิจัยเรื่องการรับรู้ด้านสุขภาพของกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน  ถือเป็นการบุกเบิกให้สังคมได้รู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ด้านสุขภาพของผู้พิการ  เพราะขณะนี้สังคมไทยยังไม่มีองค์ความรู้ที่เข้าถึงผู้พิการ   ถ้าเปรียบให้ชัด  ก็เหมือนกับเรากำลังจะเข้าถึงสุขภาพชาวเอสกิโม   แต่เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเอสกิโม  เช่นกันถ้าเราต้องการอยากจะให้ผู้พิการมีความรู้เรื่องสุขภาพ เราต้องเรียนรู้พวกเขาอย่างถ่องแท้.

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

 

update : 03-11-51  

Shares:
QR Code :
QR Code