ผลวิจัยชี้ “ยาแผนโบราณ” มีการปนเปื้อนสูง

เตือนยาแผนปัจจุบันมีผลข้างเคียง-ใช้นานดื้อยา

ผลวิจัยชี้ “ยาแผนโบราณ” มีการปนเปื้อนสูง 

          นางเพียงใจ วงศ์สุวรรณ และ นายบรรจง กิติตรัตน์ตระการ นักวิจัย ศูนย์การแพทย์นครราชสีมา นำเสนอผลการวิจัยสถานการณ์การปนปลอมยาแผนโบราณในพื้นที่เขต 13 ในการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 16 ว่า จากการเก็บตัวอย่างยาแผนโบราณเพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนยาแผนปัจุบันหรือสเตียรอยด์ และยาอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2548-2550 เก็บตัวอย่าง 96 ตัวอย่าง พบการปลอมปนร้อยละ 50 โดยแนวโน้มการปลอมปนมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 พบร้อยละ 40 ปี 2549 พบร้อยละ 48 ปี 2550 พบ ร้อยละ 61 การปนที่พบมากที่สุดคือ ยากลุ่มออกฤทธิ์แก้อักเสบ เช่น สารสเตียรอยด์ และเด๊กซาเมทาโซน เพรดนิโซโลน รองมาเป็นยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่นไดอะซีแพม ที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล ทำให้หลับง่าย

 

          นางเพียงใจ กล่าวว่า จากการตรวจยาแผนโบราณยังพบว่ามีการปลอมปนยาแผนปัจจุบันมากกว่า 1 ชนิด และพบแนวโน้มการนำยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาใช้ปลอมปนในยาแผนโบราณมากขึ้นด้วย โดยการใช้ยาแผนปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวติดต่อเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการดื้อยาตามมา และการใช้ยาโดยที่ไม่ทราบว่ากำลังได้รับยาชนิดใดอยู่บ้าง จะทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะเมื่อเกิดอาการข้างเคียงไม่สามารถสืบหาสาเหตุได้ว่ามาจากอะไร อาจทำให้ไม่สามารถรักษาได้ทันและเกิดอันตราย

 

          “ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มชุมชน เพราะยาแผนโบราณจะมีการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในชุมชน จึงต้องเร่งรณรงค์ในวงกว้าง ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการกินยาแผนโบราณที่มีการปลอมปนยาแผนปัจจุบันมีหลายอย่าง เช่นหากมีการผสมยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทก็อาจทำให้เกิดอาการมึนงง หรือยาบางชนิดออกฤทธิ์ต่อตับ และทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้” นางเพียงใจ กล่าว

         

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update : 16-06-51

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code