ผลวิจัยชี้ ‘นักมวยเด็ก’ ไอคิวต่ำ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โครงการศูนย์รังสี วินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก และสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมหารือทางออกที่เหมาะสมสำหรับ กีฬามวยไทยเด็ก หลังผลวิจัยชี้ นักมวยเด็ก ไอคิวต่ำกว่าเด็กทั่วไป ระยะยาวอาจส่งผล ให้เป็นอัลไซเมอร์ หรือ พาร์กินสันได้
ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน โครงการไอแมค กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปีเข้ามาสู่วงการมวยไทยตั้งแต่ ยังเล็กเป็นจำนวนมาก คาดว่ามีประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ ด้วยประสบการณ์ที่น้อย และกติกาที่เน้นความรุนแรงเด็กย่อมเสี่ยง ต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บ ทางสมอง ซึ่งเป็นการบาดเจ็บภายในทำให้ หลายคนไม่รู้ตัวและเกิดการสะสมมากขึ้น
จากการศึกษาวิจัยและติดตามกลุ่ม นักมวยเด็กเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปที่มี เศรษฐสถานะใกล้เคียงกัน พบว่า การชกมวย ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็ก ดังนี้ 1. มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อ เนื้อสมอง 2.เซลสมอง และใยประสาท ฉีกขาด และถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถ สั่งการได้ตามปกติ 3.การทำงานด้านทักษะ การใช้กล้ามเนื้อและมือด้านที่ไม่ถนัดของ นักมวยเด็กดีกว่าเด็กทั่วไป เพราะผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 4.การทำงานของสมอง ด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่อาการ บกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้
นอกจากนี้ ระดับสติปัญญา (IQ) ของเด็ก ที่ชกมวยยังน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามระยะเวลาการชก โดยระดับไอคิวของเด็ก ทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือ ปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปี มีไอคิว 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น
"ผลการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็ก ส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็ก ในอนาคต หากเด็กเหล่านี้โตขึ้นไปแล้วไม่ได้เข้าสู่วงการมวยจะกลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิต เหมือนคนทั่วไปได้อย่างไร จะเรียนหนังสือ หรือหางานทำอย่างไร และประสิทธิภาพในการ ดำรงชีวิตกับคุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไร จากสมองที่บอบช้ำ พร้อมกับระดับสติปัญญา ที่ต่ำกว่าคนทั่วไป อีกทั้งอาจส่งผลให้เกิดโรค ทางระบบประสาท เช่นอัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน (โรคสั่น) ในอนาคตซึ่งจะเป็นภาระต่อคนรอบข้าง ที่เกี่ยวข้องได้" ศ.พญ.จิรพร กล่าว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริม ความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) กล่าวว่าปัจจุบันการชกมวยเด็ก เป็นลักษณะมวยอาชีพ คือมีการได้รับค่าตอบแทน ซึ่งนับเป็นการใช้แรงงานเด็ก ที่ผิดกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงาน ของสหรัฐระบุว่า มวยเด็กเป็นการทารุณกรรม หรือเป็นการใช้แรงงานเด็กในขั้นเลวร้ายที่สุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 3 ด้านการค้ามนุษย์ ซึ่งในต่างประเทศมีการ รณรงค์และแก้ไขกฎหมายด้านการกีฬา ในต่างประเทศ US Soccer Federation โดยออกกฎหมายในปี 2558 ห้ามเด็กอายุ ต่ำกว่า 11 ปี โหม่งลูกด้วยศีรษะ
อย่างไรก็ตามพบว่า เด็กไทยกว่าแสนคน เริ่มขึ้นชกมวยไทยตั้งแต่อายุ 4-16 ปีส่วนใหญ่ เป็นการชกที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.กีฬามวย ปี 2542 โดยนักมวยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่ ไม่ได้ลงทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา29 ชกบนเวทีที่ไม่ได้ขออนุญาต และไม่มีการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ตามมาตรา 26 ซึ่งหลายหน่วยงานเริ่มตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว
โดยขณะนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษา และการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำ ร่างแก้ไขพ.ร.บ. กีฬามวย ปี 2542 เพื่อกำหนด ให้มวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นการแข่งขันที่ต้อง มีความปลอดภัย เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทย เพื่อฝึกฝนสู่ความเป็นเลิศทางกีฬาเท่านั้น โดยต้องจัดการแข่งขันตามมาตรฐานที่กำหนดของสมาคมมวยไทยสมัครเล่น และ IFMA (International Federation of Muaythai Amateur) ที่กำหนดระเบียบการแข่งขันไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ต้องแข่งขันแบบไม่ปะทะ คือการแข่งไหว้ครู อายุ10-11ปี แข่งขันแบบ ปะทะกันได้ แต่ไม่ชกหัว อายุ 12-13 ปี กติกา ไม่อนุญาตให้กระทำที่ศีรษะแบบรุนแรง เพื่อให้วงการกีฬาสากลยอมรับกีฬามวยไทย ในระดับโอลิมปิกได้
ทางด้านนายกสมาคมกีฬามวยอาชีพ แห่งประเทศไทย นายสมชาย เจริญวัชรวิทย์ กล่าวแสดงความเห็นด้วยที่ให้เด็กต่ำกว่า 10 ปี จะไม่มีการปะทะ เป็นเพียงการนำเสนอ แม่ไม้มวยไทยเท่านั้น ส่วนเด็ก 12-15 ปี ควรมีอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งคิดว่าการแก้ไข กฎหมายไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นประโยชน์ ต่อประเทศเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพ