ผลวิจัยชี้ คนไทยตายจากบุหรี่-เหล้า เพิ่มขึ้น
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
ผลวิจัยชี้…คนไทยตายจากบุหรี่-เหล้าพุ่ง
ศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการกำกับทิศแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย เป็นประธานดำเนินรายการเปิดผลการศึกษา “ต้นสายปลายเหตุภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่คนไทยต้องแบกรับ” โดยแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์
ผลศึกษาพบว่า “รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร” สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง “บุหรี่-เหล้า-ความดันโลหิตสูง-โรคอ้วน” ทำคนไทยป่วย ตายก่อนวัยอันควร โดยพบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งทำคนไทยตายสูงสุด 55,000 คนต่อปี และคนสูบบุหรี่ตายเร็วขึ้นเฉลี่ยคนละ 18 ปี จากโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมองและโรคปอด
ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผย “รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร พ.ศ.2557” ที่ทำการศึกษา 14 ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญของคนไทย พบสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและตายก่อนวัยอันควร ในเพศชาย ได้แก่การดื่มสุราและสูบบุหรี่ ส่วนเพศหญิง ได้แก่ การมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนและภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งพฤติกรรมทางสุขภาพที่เสี่ยงเหล่านี้ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง หัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และยังส่งผลต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นผลจากการดื่มสุรา
ทั้งนี้ บุหรี่ยังคงเป็นต้นเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในคนไทย โดยพบครึ่งหนึ่งของคนสูบบุหรี่จะเสียชีวิตจากบุหรี่ ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน และในแต่ละปีคนไทยตายจากบุหรี่ปีละ 55,000 คน ซึ่งเฉลี่ยจะตายก่อนวัยอันสมควรคนละ 18 ปี ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณในการรักษา 74,884 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมูลค่าที่สูญเสียสูงกว่าภาษีจากบุหรี่ที่รัฐจัดเก็บได้ถึง 2 เท่า
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ในคนไทยมีแนวโน้มที่ลดลง และสัดส่วนของคนไม่สูบบุหรี่ต่อคนสูบบุหรี่สูงขึ้น แต่ยังจะพบอัตราการตายจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือ การปรับอัตราภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียวกันคือ 40% ตามแผนที่กำหนดไว้ในเดือนตุลาคม ปี 2562 กรมสรรพสามิตควรเร่งพิจารณาขึ้นภาษียาเส้นที่ปัจจุบันมีราคาถูกว่าบุหรี่โรงงานหลายเท่าทั้งที่พิษภัยจากการสูบไม่แตกต่างกัน
ส่วนผลศึกษา ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควร แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 22,000 ราย ซึ่งเฉลี่ยจะตายก่อนวัยอันสมควรจากการป่วยด้วยโรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนละ 29 ปี
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวย้ำถึงอันตรายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทำคนไทยตายมากกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า และยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงควรแสดงจุดยืนและประกาศนโยบายพรรคเพื่อจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ซึ่งมาตรการสำคัญคือการขึ้นภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่และสุรา