ผลวิจัยชี้โปรแกรมเชิงรุกช่วยเลิกบุหรี่ได้ผล

วิจัยโปรแกรมเลิกสูบบุหรี่ พบบริการโปรแกรมเชิงรุกให้ผลเลิกบุหรี่ได้ดีกว่า ชี้อุปสรรคอยู่ที่ใจ ความเคยชิน สิ่งแวดล้อมเดิมๆ เผยคนสมัครใจเลิกดีกว่าคนโดนบังคับ

นางรัตติยา เพชรน้อย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีกล่าวถึงผลการวิจัย เรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการเลิกบุหรี่ของผู้เข้าคลินิกอดบุหรี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี” สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินโปรแกรมการเลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้ที่เข้าคลินิกเลิกบุหรี่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเปรียบเทียบระหว่างโปรแกรมเชิงรับและเชิงรุก รวมทั้งหาอุปสรรคที่ทำให้การเลิกบุหรี่ทำไม่สำเร็จ โดยศึกษาจากผู้ที่เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ในคลินิกเลิกบุหรี่ 20 ในโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 350 คน และศึกษาเชิงลึกในคลินิก 5 แห่ง อีก 20คน ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมแบบเชิงรุก ที่จะได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและกิจกรรมต่อเนื่องเป็นเวลา 3วัน และกลุ่มเข้าร่วมโปรแกรมเชิงรับ ที่ได้รับคำปรึกษาในระยะเวลา 3 วัน วันละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง

นางรัตติยา กล่าวว่า จากการประเมินพบว่า ทั้งคลินิกเชิงรุก และคลินิกเชิงรับ มีผู้เข้ารับบริการ ร้อยละ 56.1 และ 54.1 เห็นคุณค่าของตนเองในระดับปานกลาง โดยผู้เข้ารับบริการเชิงรุกได้รับการสนับสนุนของครอบครัวในการเลิกสูบบุหรี่ในระดับสูงร้อยละ 63.0 และผู้เข้ารับบริการเชิงรับได้รับการสนับสนุนร้อยละ 62.3 โดยผลการเลิกบุหรี่ในคลินิกเชิงรุก ผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ทันที ร้อยละ 58.1, เลิกบุหรี่ได้ในระยะ 3 เดือน ร้อยละ 58.1, ใน 6 เดือน ร้อยละ 60.9, ใน 12 เดือน ร้อยละ 61.2 และใน 1 ปี ครึ่ง ร้อยละ 55.0 ส่วนคลินิกเชิงรับผู้เข้ารับบริการสามารถเลิกบุหรี่ได้ทันที ร้อยละ 70.5, ในระยะ 3 เดือน ร้อยละ 62.3, ใน 6 เดือน ร้อยละ 52.5, ใน 12 เดือน ร้อยละ 55.7 และ ใน 1 ปีครึ่ง ร้อยละ 32.8 เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่า อัตราการเลิกบุหรี่ในช่วงสิ้นสุดโครงการทันที หลังสิ้นสุดโครงการ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ไม่มีความแตกต่างกันนัก แต่ผลการเลิกบุหรี่ในช่วง 1 ปีครึ่งนั้นโปรแกรมเชิงรุกให้ผลการเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

นางสาวศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้เข้ารับบริการไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ คือ สิ่งแวดล้อมที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นตัวกระตุ้น เมื่อเห็นคนอื่นสูบแล้วอยากสูบบ้าง เมื่อพิจารณาจากหลายๆงานวิจัยที่ไปสร้างมาตรการในชุมชนด้วยแล้ว พบว่ายังมีกิจกรรมต้องเพิ่มเพื่อให้โปรแกรมเลิกสูบบุหรี่มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น เช่น การสร้างมาตรการระดับหมู่บ้าน และตำบล เพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม และการเสริมแรงทางบวกเมื่อมีต้นแบบที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จเช่นการยกย่องชมเชยและการแสดงสัญลักษณ์บ้านปลอดบุหรี่ เป็นต้นเพื่อให้เกิดการเลิกบุหรี่โดยสมัครใจเพิ่มขึ้น

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ