ผลงานเยาวชน สร้างสรรค์ “บุหรี่คือ ยาเสพติด”
แม้จะมีการรณรงค์ให้สังคม ลด ละ เลิกบุหรี่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหานี้ลดลง จึงได้มีการสร้างสรรค์สื่อออกมาหลากหลายรูปแบบเพื่อรณรงค์ให้เข้าถึงสังคมได้อย่างแพร่หลาย
เช่นเดียวกับภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันการ์ตูนไทยมูลนิธิเด็ก ได้จัดโครงการประกวด โมชั่นกราฟฟิคและแอนิเมชั่น “บุหรี่คือยาเสพติด” ขึ้น
นางสาวชนิศา ชงัดเวช หัวหน้าภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ บอกว่า การหนุนเสริมให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา สร้างสื่อประเภทโมชั่นกราฟฟิคและแอนิเมชั่น นี้ถือเป็นสื่อข้อมูลเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจที่น่าจะสื่อให้เห็นว่า “บุหรี่” เป็นปัญหาร้ายแรงที่ควรจะปกป้องเยาวชนไม่ให้เริ่มต้นสูบบุหรี่ และส่งเสริมให้มีค่านิยมไม่สูบบุหรี่
“นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนโครงการเปิดโปงธุรกิจบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่ต้องสร้างวาทกรรม “บุหรี่คือยาเสพติด” เพื่อส่งเสริมค่านิยมไม่สูบบุหรี่ในสังคม อันจะส่งผลต่อการสนับสนุนนโยบายควบคุมยาสูบของประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” นางสาวชนิศาเล่า
สำหรับบุหรี่นั้น นับว่าเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีพิษภัยของบุหรี่ร้ายแรง เพราะในควันบุหรี่มีสารพิษอยู่มากมาย อาทิ
– นิโคติน มีลักษณะเป็นน้ำมัน ไม่มีสี มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
– ทาร์ เป็นน้ำมันเหนียวข้น สีน้ำตาล จะเข้าไปจับอยู่ที่ปอดทำให้ระคายเคือง ถุงลมในปอดขยายขึ้น
– คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง
– ไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำลายเยื่อบุหลอดลม ทำให้ถุงลมโป่งพอง
– ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ทำลายเยื่อบุหลอดลมชนิดมีขนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำลายหลอดลมได้ง่าย ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายต่อผู้สูบบุหรี่และผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น
ตอนนี้มีผลงานที่น่าสนใจแล้ว 5 ชิ้นงาน คือ 1. ผลงานชื่อ นี่ใช่บ้านในฝันของครูหรือเปล่า 2. ผลงานชื่อ tobacco land 3.ผลงานชื่อ หนูอยากทดลอง 4. ผลงานชื่อ ผู้สูบความตาย และ 5. ผลงานชื่อ death factory ที่ได้มีการนัดพัฒนางานโดยพี่เลี้ยงระดับมืออาชีพ ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ผลงานทั้ง 5 ชิ้นนี้จะเสร็จสมบูรณ์ และนำมาเผยแพร่ครั้งแรกในงานวันงดสูบบุหรี่โลก…อยากรู้ว่าผลงานที่ออกมาจะเป็นอย่างไร สามารถสนับสนุนให้มีการส่งเสริมค่านิยมไม่สูบบุหรี่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จะส่งผลต่อการพัฒนานโยบายด้านการควบคุมยาสูบให้กับสังคมไทยได้หรือไม่ วันที่ 31 พฤษภาคมนี้พบกันแน่นอน
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)