ผลกระทบเรื่องอุบัติเหตุต่อเยาวชน

เยาวชนไทยกว่า 20,000 ราย จบชีวิตจากการซิ่งรถยามวิกาล

 

ผลกระทบเรื่องอุบัติเหตุต่อเยาวชน            อุบัติเหตุจราจรทางบก (Road Traffic Accidents) เป็นปัญหาระดับโลกของสังคมที่ใช้รถในการคมนาคมขนส่ง องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ในปี ค.ศ.2000 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัตรเหตุจราจรทางถนนทั่วโลกประมาณ 1,260,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของการสูญเสียชีวิตประชากรโลก และคาดการณ์ว่า 10 ปีถัดมาประเทศกำลังพัฒนาจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอย่างน้อย 6 ล้านคน หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขโดยรีบด่วน และประมาณการว่าความสูญเสียด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีมูลค่าร้อยละ 2-4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product)

 

            ในไทย อุบัติเหตุจราจรทางบก เป็นสาเหตุการบาดเจ็บและตายที่สำคัญที่สุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ.2546 คนไทยตายด้วยสาเหตุนี้กว่า 15,000 คน บาดเจ็บกว่า 1,200,000 คน เฉลี่ย 1 ชั่วโมงเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 140 ราย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียด้านเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีหรือประมาณร้อยละ 3-4 ของ GDP

 

            ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประมาณว่าไทยจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่, สงกรานต์ซึ่งมีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจราจรเฉลี่ยชั่วโมงละ 3.6 คน มากกว่าวันธรรมดาถึง 1 เท่าตัว โดยผู้ประสบอุบัติเหตุร้อยละ 80 ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาขับรถ อายุ 15-25 ปี มากที่สุด ร้อยละ 70 คือรถจักรยานยนต์

 

            ปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยมีเด็กวัย 5-14 ปี 10.97 ล้านคน, 15-24 ปี 11.57 ล้านคน เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.8 คน อัตราการตายประมาณ 6,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุ  ประมาณ 1,500-1,800 รายต่อปี เป็นเด็กชายมากกว่าหญิง 7 เท่า พฤติกรรมขับขี่ไม่ปลอดภัย อาทิ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และเสพยาเสพติดเมื่อขับรถ จากรายงานสภาวการณ์ “เด็กไทย” ในรอบปี 2547-2548 เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์จำนวน 3,766 คน คิดเป็นร้อยละ 32 ต่อประชากรแสนคน หรือวันละ 10.37 คน

 

            ปี 2550 ยิ่งวิกฤต เยาวชนไทยตั้งครรภ์ก่อนบรรลุนิติภาวะสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัยรุ่น 11-19 ปี ก๊งเหล้า 1 ล้าน 2 แสนคน จ่ายค่าเกมส์-มือถือ-อาหารขยะ เดือนละเกือบ 4 พัน อายุไม่ถึง 15 ปีเริ่มดื่มเหล้า มีเด็กชายอายุ 11-19 ปี ดื่มเหล้าถึง 1 ล้านคน เด็กหญิงอายุ 15-19 ดื่มราว 2 แสนคน ซึ่งสาเหตุการตายลำดับ 1 ของเยาวชน ยังเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ประมาณปีละ 4,000 คน หรือ 12 คนต่อวัน โดยร้อยละ 40 ของอุบัติเหตุมาจากการดื่มเหล้า ที่สำคัญเหล้ายังสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย

 

            สถิติข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่จัดทำโดยศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาซึ่งอยู่ในวัยเรียนต้องจบชีวิตไปกว่า 20,000 คนจากความคึกคะนองออกซิ่งรถยามค่ำคืน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ชื่นชอบแข่งรถจักรยานยนต์บนท้องถนน หรือที่เรียกกันว่า แก๊งเด็กแว้น รวมอยู่ด้วย

 

            สรุปคนไทยวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและจำนวนพาหนะมากกว่าสหรัฐอเมริกา 10 เท่า และ 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุเกิดกับวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี สาเหตุจากการเมาสุราหรือแข่งขันใช้ความเร็วสูง ขับขี่ยามวิกาลไม่ใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย

 

            ภาวะคุกคามที่ท้าทายสังคมไทยก็คือ เด็กขี่จักรยานยนต์มากขึ้น ตกเป็นเหยื่อหรือกลุ่มเป้าหมายทางการค้าของภาคธุรกิจดังจะเห็นได้จากรูปแบบการโฆษณา การสื่อสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นทุกรูปแบบโดยมีผู้ปกครองส่งเสริมและการที่เด็กบางคนดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือขณะขับขี่นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ถือได้ว่าเป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่บ่อนทำลายความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ ดังปรากฏให้เห็นจากงานวิจัยเชิงลึกทางสังคม พบว่าจักรยานยนต์เป็นพาหนะนำการบาดเจ็บสู่เด็กและยังนำพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ สู่วัยรุ่น เช่น รถซิ่ง การพนัน เซ็กซ์ ลักขโมย ขัดแย้งกับพ่อแม่ สุรา และยาเสพติด

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 25-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code