ผนึก 8 สมัชชาเครือข่ายแก้ปัญหาการศึกษาไทย
การศึกษาไทยน่าห่วง ผลสัมฤทธิ์รั้งท้าย เรียนจบมหาวิทยาลัยและมีงานทำแค่ 10% “สสส.-สกล.”ผนึก 8 สมัชชาเครือข่าย ออกแถลงการณ์ปฏิรูปฯ มั่นใจช่วยแก้ปัญหา-พัฒนาถูกจุด จ่อชงเข้ม 7 มาตรการต่อทุกพรรค และรัฐบาลใหม่ ดันเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ รร.เอบีน่าเฮ้าส์ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือก(สกล.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ได้จากเวทีระดมความคิดเห็นของ 8 เครือข่าย 8 เวที ได้แก่ 1.เครือข่ายการศึกษาทางเลือก 2.โรงเรียนขนาดเล็กสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 3.โรงเรียนเอกชน 4.โรงเรียนสังกัด อปท. 5.สภาคณบดีคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์แห่งประเทศไทย 6.กลุ่มธุรกิจเอกชน 7.กลุ่มเด็กและเยาวชน และ 8.เครือข่ายผู้ปกครอง
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธานกรรมการบริหารแผนสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาไทยไม่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ประกอบกับความท้าทายใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีการแข่งขันสูง ข้อมูลสารสนเทศ และนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น จึงต้องการประชาชนที่มีความเป็นพลเมืองมากขึ้น การปฏิรูปการศึกษาจึงมีความจำเป็น ซึ่งไม่ใช่การปฏิรูปแบบเก่าที่ทำโดยระบบราชการอย่างเดียว แต่ต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของครอบครัวเป็นสำคัญ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การศึกษาเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมที่สำคัญลำดับต้นๆ แต่ปัจจุบันยังมีปัญหา อาทิ ความเหลื่อมล้ำสูงทั้งด้านคุณภาพโรงเรียน ภาระงานครู งบประมาณ การศึกษาที่เน้นการแข่งขัน ทำให้เด็กเครียด จำนวนนักเรียนต่อครู 1 คนที่มากเกินไป การดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง ส่งผลต่อคุณภาพ และพฤติกรรมทางสุขภาวะของเด็กและเยาวชน จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) พบว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา 900,000 คน ในแต่ละรุ่น จะมีเด็กเพียง 90,000 คน หรือ 10% ที่เรียนจบอุดมศึกษา และมีงานทำในปีแรก ขณะที่ 10% ไม่จบชั้น ม.3 อีก 50% เรียนจบไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วน 40% ที่เรียนต่อระดับอุดมศึกษา จะมี 10% ที่เรียนไม่จบ และอีก 20% เรียนจบแต่ตกงาน สสส. จึงร่วมกับ สกล. และภาคีเครือข่าย จัดเวทีระดมสมองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่าเป็นการขับเคลื่อนครั้งสำคัญต่อการกำหนดแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน และพร้อมสำหรับการแข่งขัน โดยเฉพาะการเกิดประชาคมอาเซียนในปีหน้า
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการ สกล. กล่าวว่า จากการจัดเวทีขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา 8 เวที เกิดข้อเสนอที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหา และพัฒนาระบบการศึกษาไทย 7 แนวทาง ได้แก่ 1.ปฏิรูปการกระจายอำนาจ กระจายอำนาจจัดการศึกษาให้ชุมชน ท้องถิ่น ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมจัดทำแผนการศึกษา และทำสัตยาบันร่วมกัน เพื่อให้นโยบายการศึกษามีความต่อเนื่อง ไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง 2.ปฏิรูปนโยบาย แก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไม่ให้แยกส่วน แต่เชื่อมร้อยกันตั้งแต่ปฐมวัยถึงมหาวิทยาลัย ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติ 3.ปฏิรูปการบริหารจัดการ (หลักสูตรการศึกษา ตัวชี้วัด ประเมินผล การจัดสรรงบประมาณ) มีหลักสูตรชุมชน ที่สอดคล้องวิถีชีวิต ประเมินทุกระดับอย่างมีส่วนร่วม เพื่อคืนครูให้ห้องเรียน มีคณะกรรมการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ส่วนการจัดสรรงบประมาณนั้น ให้มีการจัดสรรงบฯ ให้สอดคล้องกับพื้นที่ เพิ่มสัดส่วนงบฯ พัฒนาเด็กเป็น 80% ลดงบฯบริหารและพัฒนาบุคลากรเหลือ 20% ยกเลิกจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเป็นอุดหนุนภาคครัวเรือน 4.ปฏิรูปการสื่อสารเพื่อการศึกษา สร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจกับทุกฝ่าย
เลขาธิการ สกล. กล่าวต่อไปว่า 5.ปฏิรูประบบผลิตบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีการปฏิรูปครูเก่า และสร้างหลักสูตรผลิตครูใหม่ จัดตั้งมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติ ผลิตครูโดยมุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมบริหารจัดการบุคลากร เช่น การคัดเลือกครูควรเป็นสิทธิของผู้บริหารโรงเรียน และครูไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในชุมชนสามารถเป็นผู้จัดการศึกษาได้ 6.ปฏิรูปกลไกการจัดการศึกษา จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา ที่รัฐสนับสนุนงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ สนับสนุน 7.ปฏิรูปเป้าหมายทางการศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้ด้วยตนเองเป็น และแนวทางทั้งหมดได้ประกาศเป็นแถลงการณ์สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาไทย” เสนอต่อรัฐบาลใหม่ดำเนินการเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข