ผนึกหลายหน่วยงาน ชวนคนไทยงดเหล้าครบพรรษา

      สสส.ผนึก กรมคุมประพฤติ-ภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยงดเหล้าให้ครบพรรษา ดึงผู้ถูกคุมประพฤติเข้าร่วม หวังลดผลกระทบทางสังคม เผย น้ำเมาเป็นเหตุให้เยาวชนก่อคดีอาชญากรรม-เมาแล้วขับ ขณะ "อดีตคอทองแดง" เผย ดื่มหนักตั้งแต่อายุ 18


/data/content/24975/cms/e_dinortvxy123.jpg


      ที่ลานเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายเกษม มูลจันทร์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงานรณรงค์ "สัญญา…งดเหล้าครบพรรษา" พร้อมชวนผู้ถูกคุมประพฤติเข้าร่วมโครงการงดเหล้าครบพรรษา จากนั้นเดินรณรงค์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคีเครือข่าย 100 คน แจกสื่อให้ประชาชนทั่วไป พนักงานขับรถโดยสาร และร้านค้า ที่บริเวณป้ายรถเมล์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


      นายเกษม มูลจันทร์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์ "สัญญา…งดเหล้าครบพรรษา" เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักโทษภัยของสุรา ที่กระทบต่อครอบครัว สังคม และร่วมมืองดดื่มช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ตลอดจนสนับสนุนบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551


       ทั้งนี้ จากการศึกษาติดตามพฤติกรรมการบริโภคสุรา ปี 2554 พบว่า คนไทยตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นนักดื่มสูงเกือบ 17 ล้านคน แต่ละปีมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน สาเหตุจากปัจจัยสภาพแวดล้อม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่แฝงไปด้วยค่านิยม เช่น ดื่มแล้วดูดี เข้าสังคมได้ เป็นที่ยอมรับ หรือเป็นคนมีสไตล์ การดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อแม่ดื่ม


    /data/content/24975/cms/e_ahiprswy2346.jpg  "จากสถิติของกรมคุมประพฤติในรอบ 4 ปี พบว่าผู้ที่ถูกคุมประพฤติจากความผิดฐานเมาแล้วขับ เฉลี่ย 24% ของฐานความผิดทั้งหมดปี 2556 มีคดีเมาแล้วขับ 50,844 คดี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,275 คดี สำหรับปี 2557 เฉพาะช่วงครึ่งปีแรก มีคดีแล้วถึง 25,505 คดี อย่างไรก็ตาม กิจกรรม "สัญญา งดเหล้าครบพรรษา" ในวันนี้ มีผู้ถูกคุมประพฤติจากพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม จึงหวังให้ผู้ที่ดื่ม ลด ละ เลิก รวมถึงงดดื่มตลอดเข้าพรรษาและจะดีที่สุดถ้างดดื่มได้ตลอดชีวิต" นายเกษม กล่าว


      ทางด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เหตุที่ สสส.และกรมคุมประพฤติร่วมกันรณรงค์กิจกรรม "สัญญา…งดเหล้าครบพรรษา" เนื่องจากข้อมูลการศึกษาของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่พบชัดเจนว่า ร้อยละ 40.8 ของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ที่มีประสบการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยอมรับว่า กระทำความผิดภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่ม และสัดส่วนของผู้ที่กระทำความผิดระหว่างดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด อันได้แก่ สัดส่วนของผู้ที่กระทำความผิดระหว่างดื่ม ในฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย (เช่น คดีฆ่า) สูงถึงร้อยละ 56


      รองลงมา คือ ฐานความคิดเกี่ยวกับเพศ พกอาวุธ หรือวัตถุระเบิด, ผิดต่อทรัพย์, คดีเกี่ยวกับความสงบสุข และคดียาเสพติดให้โทษ คิดเป็นร้อยละ 46, 41, 35, 31 และ 29 ตามลำดับ


       นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มผู้ที่กระทำความผิดคดีเมาแล้วขับ ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน จำนวน 36 ราย พบว่าผู้กระทำความผิดมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 70 ไปจนถึง 214 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยที่ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนี้ มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 112 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้ไม่เกินที่ระดับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างมาก ดังนั้น การเลิกดื่มไปเลย หรือการงดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษา น่าจะส่งผลให้สามารถลดปัญหาอาชญากรรม ที่เป็นผลจากการดื่มสุราและการก่ออุบัติเหตุจากพฤติกรรมเมาแล้วขับในหมู่เยาวชน ตลอดจนกลุ่มประชาชนทั่วไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว


        พร้อมกันนั้น ดร.นพ.บัณฑิต ยังกล่าวเชิญชวนให้ครอบครัวช่วยเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนที่ตั้งใจ "งดเหล้าครบพรรษา" ในปีนี้ด้วย เนื่องจากครอบครัวเป็นปัจจัยตัวช่วยที่สำคัญต่อการที่นักดื่มคนหนึ่งจะเลิกดื่มให้ครบพรรษาได้ ดังผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ของศูนย์วิจัยปัญหาสุราร่วมกับเอแบคโพลล์ ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปี 2556 ที่พบว่า แม้นักดื่มจะระบุว่า งดเหล้าด้วยตนเอง ร้อยละ 58 แต่มีถึงร้อยละ 36 ที่ยอมรับว่าครอบครัวคือตัวช่วยที่สำคัญ


         ขณะที่ นายสมพร ปากดี อายุ 47 ปี คนงานต้นแบบเลิกเหล้า บริษัท ยางโอตานิ จำกัด เปิดใจอดีตที่เคยเป็นเซียนเหล้า ว่า เริ่มดื่มเหล้าเรื่อยมาตั้งแต่อายุ 18 ปี จนกลายเป็นโรคติดเหล้า ต้องดื่มทุกวันไม่เคยขาด จนเข้าสู่วัยทำงาน ดื่มไปเรื่อยๆ จนสุขภาพย่ำแย่ เสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ และเกือบถูกไล่ออกจากงาน หนี้สิ้นรุมเร้า ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่หมดไปกับการดื่มประมาณ 6,000-10,000 บาทต่อเดือน สำหรับแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เลิกดื่ม เพราะสุขภาพย่ำแย่ เงินไม่เหลือเก็บ มีปัญหาครอบครัวบ่อยครั้ง


        หลังจากนั้นจึงเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ถวายในหลวง ที่ทางโรงงานจัดขั้นในปี 2550 โดยครั้งนั้นใช้เวลา 3 เดือน ไม่แตะต้องเหล้า ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ต้องต่อสู้กับความทรมานมากมาย แต่เมื่อตัดสินใจที่ต้องรักษาคำพูด ก็อยากทำสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่หลังจากครบ 3 เดือน ก็กลับมาดื่มหนักอีกครั้ง กระทั่งปี 2551 เทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษาเวียนมา ก็ตัดสินใจที่จะลดเหล้าเป็นเวลา 7 เดือน หลังจากครบก็ยืดเวลาออกไปอีกเป็น 10 เดือน จนปัจจุบันนี้ ไม่แตะต้องเหล้าอีกเลย


         "ภายหลังเลิกดื่มถาวร ผมพบการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในทางที่ดีขึ้นในชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการหลุดจากวงโคจรหมกมุ่นอบายมุข ที่มันคอยแต่ดึงให้จิตใจตกต่ำ มีแต่ความอยากในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ทุกวันนี้ร่างกายของผมแข็งแรง ทำงานก็ได้เต็มศักยภาพ ครอบครัวลูกเมีย ก็มีความสุข อย่างไรก็ตาม อยากฝากว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่กำลังประสบปัญหาเสพติดสุรา สามารถที่จะเลิกได้อย่างถาวร หากมีความตั้งใจจริง ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ เช่น เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นใบเบิกทาง" นายสมพร กล่าว.


 


 


        ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code