ผนึกกำลังเดินหน้างานคุ้มครองเด็ก รับมือโควิด-19

ที่มา : เดลินิวส์


ผนึกกำลังเดินหน้างานคุ้มครองเด็ก รับมือโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


ผนึกกำลัง กรมอนามัย ยูนิเซฟ และ 3 กระทรวงหลัก เดินหน้างานคุ้มครองเด็ก รับมือผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19


นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ประกาศ ให้การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโรคโควิด-19 เป็น "ภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ระดับโลก" (pandemic) ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงตำบลและชุมชนที่ห่างไกล เกิดผลกระทบต่อครอบครัวหรือผู้ดูแลเด็กจากความเครียด ความกลัวว่าจะติดโรค และความกังวลด้านสภาวะเศรษฐกิจจากการขาดรายได้ ขาดแคลนอาหารและสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลกระทบต่อชุมชนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในชุมชน จึงทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น


แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย    เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์พบว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ได้แก่ 1.ด้านการได้รับอาหารไม่เพียงพอ เด็กในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผล กระทบจากการหยุดเรียน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับอาหารกลางวันจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน การปิดศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียนทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการไม่ดีพอ 2.ด้านพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามวัย เพราะในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติเด็กต้องหยุดเรียน จึงขาดโอกาสในการเรียนรู้ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก อีกทั้งพ่อแม่มีความเครียด ทำให้ขาดการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 3.ด้านสุขภาพจากการเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงยาก


ในสถานการณ์วิกฤติก็จะยิ่งเข้าถึงยากมากขึ้น ขาดการได้รับวัคซีน ขาดโอกาสที่จะมารับบริการตรวจสุขภาพตามวัยของเด็ก 4.ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่างๆ จากการออกมาเล่นโดยอิสระของเด็ก จากการปล่อยปละละเลย และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมที่เพิ่มมากขึ้น 5.ด้านจิตใจ จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพราะในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติอาจทำให้ครอบครัวเกิดความเครียดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมีสูง เด็กมักเป็นเป้าหมายและตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รวมถึงการแสวงประโยชน์จากเด็กหรือการขาดผู้ดูแล


แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มการให้ความช่วยเหลือออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 คือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทางตรง ได้แก่ ครอบครัวที่มีสมาชิกถูกกักตัวหรือติดเชื้อรวมถึงเด็ก/ผู้ดูแลที่ถูกกักตัวหรือ ติดเชื้อ กลุ่มที่ 2 คือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ เด็กที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเหมาะสม รวมถึงกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก โดยได้วางแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและครอบครัวตามระดับความเสี่ยงดังนี้


กรณีมีความเสี่ยงระดับต่ำ (สีเขียว) จะเน้นการทำงานเชิงป้องกัน มีอาสาสมัครเพื่อดูแลความปลอดภัยของพื้นที่ส่วนกลางในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงและดูแลเรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและสุขอนามัยของเด็ก รวมถึงการส่งเสริมค่านิยมและพฤติกรรมที่เหมาะสมในการดูแลคุ้มครองเด็กในสถานการณ์โควิด-19


กรณีมีความเสี่ยงระดับปานกลาง (สีเหลือง) จะให้การดูแลเป็นรายกรณีโดยเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กจะมีการหารือกับเครือข่าย (เฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง) เพื่อแบ่งหน้าที่ในการรวบรวมข้อเท็จจริงเชิงลึกเพิ่มเติม ทั้งด้านความปลอดภัยและประเด็นปัญหา เพื่อนำมาใช้ในการประเมินและวางแผนจัดบริการสำหรับเด็กแต่ละคน จะมีการรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งของตัวเด็กและครอบครัวและของพื้นที่ มีการประสานงานหน่วยงานเครือข่ายทั้งในระดับตำบล อำเภอและจังหวัด เพื่อการเข้าถึงบริการที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและครอบครัว และที่สำคัญคือหากประเมินแล้วเห็นว่าเด็กอยู่ในอันตรายจะมีการประสานกับนักวิชาชีพระดับจังหวัด เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว เพื่อเข้ามาร่วมดูแลให้เกิดความปลอดภัยกับตัวเด็ก


กรณีมีความเสี่ยงระดับสูง (สีแดง) จะให้การช่วยเหลือรายกรณีทันที ในกรณีที่เด็กต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ(สีแดง) จะให้การช่วยเหลือโดยผ่านการหารือร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว เจ้าหน้าที่ศูนย์พึ่งได้ ตามแนวปฏิบัติการคัดกรองและช่วยเหลือเด็ก ร่วมพิจารณาให้ความเห็นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็ก ในกรณีเด็กถูกทารุณกรรมหรือมีความไม่ปลอดภัย ต้องมีการพิจารณาเพื่อส่งต่อการดูแลเด็กให้กับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัวโดยเร็ว


"ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เข้าร่วมแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันว่าแต่ละจุด หน่วยงานจะดูแลร่วมกันอย่างไร โดยจะมีการจัดทำเป็นคู่มือต้นฉบับ เป็นมาตรการและแนวทางในการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เพื่อให้ระบบการดูแลคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายใต้ความร่วมมือแบบบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน" แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว.

 

Shares:
QR Code :
QR Code