ผนึกกำลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมคนไทยออกกำลังกาย

ปลุกกระแสรักษ์สุขภาพครอบคลุมทั่ว ปท.

 

ผนึกกำลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมคนไทยออกกำลังกาย

          “กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ ฮ่าให้ ฮ่าให้” ประโยคฮิตติดปากสำหรับการออกกำลังกาย เพราะต่างรู้กันอยู่เต็มอกว่า การออกกำลังกายเป็นเรื่องดีกับร่างกาย ดีกับชีวิตให้มีสุขภาพแข็งแรง โรคภัยไม่เบียดเบียน แต่กว่าจะลากสังขารไปออกกำลังกายแต่ละครั้งมันช่างยากเย็นแสนเข็ญเสียเหลือเกิน

 

          สะท้อนจากข้อมูลได้จากการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนไทยในปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน แต่มีจำนวนผู้ออกกำลังกายทั้งสิ้น 16.3 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเด็กถือเป็นกลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุดถึง 73.1% เนื่องจากอยู่ในวัยเรียน ขณะที่วัยทำงานมีอัตราการออกกำลังกายน้อยที่สุดมีเพียง 19.7% เท่านั้น

 

          เหตุนี้เองที่ทำให้ในวัยเรียน ร่างกายมันแข็งแรง ไม่ป่วยไม่ไข้ แต่เมื่อโตขึ้นร่างกายที่ใช้งานมายาวนานโดยขาดการดูแล ด้วยการออกกำลังกายจึงทำให้มีผลสัมพันธ์กัน

 

          ทั้งที่การออกกำลังกายถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่สำคัญแต่ความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายของประชากรกับภาวะสุขภาพของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 55 ล้านคน พบว่า มีผู้ไม่ออกกำลังกายถึง 68.5%

 

          ขณะที่ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเพียง 17.4% เท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสูงถึง 68% หรือ จำนวน 9.2 ล้านคนของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป

 

          เหตุผลและปัจจัยหนึ่งของการออกกำลังกาย คือ สถานที่สำหรับออกกำลังกาย ที่มีแรงดึงดูดให้น่าออกกำลังกาย แม้ว่าแท้จริงแล้ว การออกกำลังกายสามารถออกได้ทุกสถานที่ เพราะข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรส่วนใหญ่นิยมออกกำลังกายบริเวณบ้านถึง 32.9% รองลงมา คือ 25.7% สนามกีฬาในสถานศึกษา และ 9.5% บริเวณสถานศึกษา

 

          ขณะเดียวกัน กระแสการตื่นตัวการสนใจในสุขภาพกับการออกกำลังกายมีมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ จะเห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจฟิตเนส เพิ่มสาขาไปยังสถานที่ต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า และหมู่บ้านในเขตเมือง โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2551 ธุรกิจฟิตเนสมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

 

          “แต่นั่นเป็นเพียงกลุ่มคนในเมืองเท่านั้นที่เข้าถึงฟิตเนส เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีรายได้น้อย และอยู่นอกเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย คือ ความสะดวก ด้วยเหตุนี้จึงต้องเปิดพื้นที่ใหม่ และสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจให้กระจายถึงประชาชนในทุกพื้นที่ให้มากขึ้น”

 

          ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจและพันธกิจหลักคือ การสนับสนุนให้คนไทยแข็งแรง ห่างไกลจากโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นช่องทางการผนึกกำลังให้คนมีสุขภาพดีทั่วประเทศ โดยอาศัยหน่วยการปกครองระดับรากหญ้ามาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสุขภาพคนไทย

 

          ล่าสุด สสส.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายสมพร ใช้ใบยาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสส. นายอำนาจ ศิริชัย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามสัญญาผนึกกำลังเพื่อคนไทยแข็งแรงกัน

 

          เหตุที่ต้องการผสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพราะว่า องค์กรเหล่านี้เป็นผู้อยู่กับประชาชนในพื้นที่ มีศักยภาพ และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะ จึงเกิดการความร่วมมือในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

 

          พร้อมกันนี้จะมีการแข่งขันกีฬาประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย 20 องค์กร จาก 5 ภูมิภาค เพื่อสร้างกระแสการกำลังกายจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมไทย

 

          หากบางพื้นที่เน้นหนักให้ความสำคัญ ที่จะส่งเสริมสุขภาพของประชาชน จนมีการกำหนดเป็นมาตรการและนโยบายจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ก็สามารถนำมาถอดเป็นบทเรียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นให้เข้มแข็ง โดยมีทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแรงอยู่ในพื้นที่ขับเคลื่อนให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

Update 18-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code