ผนึกกำลังสร้างคนไทยให้มีความรอบรู้สุขภาพ
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล จับมือกับกรมอนามัย ผนึกกำลังสร้างคนไทยให้มีความรอบรู้สุขภาพ
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย (สครท.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดการประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เรื่อง "ความรอบรู้สุขภาพเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : มิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”(Health Literacy for Sustainable Development Goal: Human Resource Development) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาความรอบรู้สุขภาพ โดยเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการที่จะนำความรู้ด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพทั้งบุคคล ชุมชน และสังคม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เรื่อง ความรอบรู้สุขภาพเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: มิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Health Literacy for Sustainable Development Goal: Human Resource Development) ณ ห้องเธียเตอร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา ไปพร้อมๆกับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลกตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกประชารัฐ ซึ่งสิ่งสำคัญ ในการเตรียมคนไทย 4.0 คือการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ คนไทยที่มีปัญญาเฉียบแหลม (Head) มีทักษะที่เห็นผล (Hand) มีสุขภาพแข็งแรง (Health) และมีจิตใจงดงาม (Heart) ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ทักษะ (Skill-Set) และพฤติกรรม (Behavior Set) ของคนไทยทั้งระบบ
"ความรอบรู้ด้านสุขภาพและการสื่อสารสุขภาพของบุคคล ในการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสมมีความสามารถในการจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง (Self – Management) และอยู่ในสังคมรอบรู้ (Literate Society) โดยเริ่มจากประชาชนเป็นหลัก ให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลความรู้สุขภาพ มีการโต้ตอบ ซักถาม แลกเปลี่ยน นำไปสู่ การตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองและปรับสภาพแวดล้อมได้ และบอกต่อเพื่อสร้างสังคมรอบรู้สุขภาพ อย่างยั่งยืน” รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อมีแนวโน้มสูงขึ้นและพบในคนที่มีอายุน้อยลง ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2559 พบว่า วัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ร้อยละ 49 มีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพตามหลักเรื่อง 3 อ 2 ส ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราอยู่ในระดับไม่ดี โดยเฉพาะการสื่อสารเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูลและบริการทางสุขภาพ ความรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ การจัดการเงื่อนไขทางสุขภาพของตนเอง รวมทั้งประชาชนยังประสบปัญหาสุขภาพต่างๆที่เกิดจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง
"ทั้งนี้ ความรอบรู้ด้านสุขภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างระหว่างคนที่สามารถจัดการสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ และคนที่มีข้อจำกัดในการจัดการสุขภาพ โดยเฉพาะในยุคของข้อมูลดิจิทัลและสังคมออนไลน์ขณะนี้ ประชาชนจำเป็นต้องมีความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจ ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล มีการกลั่นกรองและเลือก โดยนำไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อจัดการสุขภาพของตนเองและครอบครัวให้เหมาะสมและถูกต้อง การที่จะทำให้ประชาชนมีความสามารถข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข ภาคการสื่อสารมวลชน ภาคสวัสดิการสังคม และสังคมโดยรวม ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนมีความรอบรู้สุขภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพได้ถูกประกาศให้เป็นหนึ่งในสามของกิจกรรมหลักในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในมหานครเซี่ยงไฮ สาธารณรัฐประชาชนจีน (Shanghai Declaration) และเป็นรากฐานที่สำคัญเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนาทักษะในการให้ข้อมูลข่าวสารสุขภาพแก่บุคคลและ การสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคม องค์กร ที่มีการเน้นความสำคัญของการใช้ข้อมูล การประเมินความถูกต้องของข้อมูล และตัดสินใจด้วยข้อมูล จึงเป็นประเด็นใหม่ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงถือเป็นบทบาทหน้าที่ในฐานะสถาบันการศึกษาที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และพัฒนาบุคลากรของประเทศ ทั้งที่เป็นบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ด้านสุขภาพบุคลากรของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้สามารถปฏิบัติรูปแบบตัววี (V Shape) คือเข้าถึง เข้าใจข้อมูลสุขภาพ และบริการสุขภาพ และประยุกต์ใช้ได้ สามารถตัดสินใจดูแลสุขภาพของตนเอง และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม และผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ในทุกกลุ่มของสังคมไทย ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2561
"การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาความรอบรู้สุขภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะนำความรู้ด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพของบุคคล ชุมชน และสังคม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ของหน่วยงานและองค์กรที่มีการขับเคลื่อนสู่องค์กรรอบรู้สุขภาพ สังคมรอบรู้สุขภาพ แนวทางการพัฒนานักวิจัยด้านการรอบรู้สุขภาพ และการพัฒนางานวิจัยด้านการรอบรู้สุขภาพ” คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าว