ป้องกันโรคติดเชื้อช่วงน้ำท่วม

ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมืองออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


แนะป้องกันโรคติดเชื้อช่วงน้ำท่วม thaihealth


แฟ้มภาพ


“แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์” เตือนโรคติดเชื้อช่วงน้ำท่วม พร้อมแนะนำการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย จากโรคตาแดง โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู และโรคน้ำกัดเท้า


รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ในช่วงภาวะน้ำท่วมเราจะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลายด้าน ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วม แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะปนเปื้อน กระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียที่เคยถูกเก็บในที่มิดชิดกระจายเป็นวงกว้าง น้ำท่วมทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนทำให้สัตว์ แมลง ไม่มีที่อยู่อาศัยออกจากถิ่นที่อยู่เพ่นพ่านทั่วไป ในขณะเดียวกันสภาพน้ำท่วมทำให้พาหะนำโรคต่างๆ เจริญเติบโตได้ดีซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณเชื้อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นและแพร่ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย โรคหลายชนิดที่เกิดจากยุงเป็นพาหะมีโอกาสระบาดสูงขึ้นใช่วงน้ำท่วม


โดยโรคติดต่อที่พบได้บ่อยช่วงน้ำท่วม ได้แก่  1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ 2. โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบบ่อยในเด็กเล็ก มักพบในฤดูฝน ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด 3. โรคตาแดง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เนื่องจากน้ำสกปรกหรือฝุ่นละอองเข้าตา ถูกแมลงวัน แมลงหวี่ตอมตา หรือติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยตาแดง 4. โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ในช่วงน้ำท่วมน้ำขัง ลูกน้ำยุงลายชุกชุมกว่าปกติ ส่งผลให้เสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก


5. โรคอุจจาระร่วง ติดต่อโดยเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็นและไม่ได้อุ่นให้สุกอย่างทั่วถึง  6. โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข เป็นต้น ปนเปื้อนลงในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะโดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ 7. โรคผิวหนังจากเชื้อรา หรือโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคเป็นเวลานาน


รศ.พญ.อัจฉรา กล่าวต่อว่า การปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยจากภัยสุขภาพในช่วงน้ำท่วม สามารถปฏิบัติตนง่ายๆ ดังนี้ การดูแลความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำรักษาร่างกายให้สะอาด รักษาความสะอาดของมือเพื่อลดจำนวนเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มือเป็นอวัยวะที่ใช้หยิบจับสิ่งของต่างๆตลอดเวลา จึงมีโอกาสสูงที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางมือ นอกจากนี้ควรสวมรองเท้าหรือรองเท้าบู๊ทที่เหมาะสม หากต้องลุยน้ำย่ำโคลน หรือเดินบนที่ชื้นแฉะ ช่วยป้องกันน้ำและเชื้อโรคได้ และเมื่อเสร็จภารกิจการงาน ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด


การรับประทานอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนประกอบและรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ อุ่นอาหารให้สุกทั่วถึง หากต้องนำอาหารค้างมื้อมารับประทาน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด และการขับถ่าย ต้องขับถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือทุครั้งหลังการขับถ่าย หรือจับสิ่งของสกปรก ส่วนการพักผ่อน ต้องนอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด ทั้งเวลากลางวัน และกลางคืน หรือทายากันยุงในกรณีที่มีความจำเป็น


กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ รพ.ธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมที่พักให้สะอาด เป็นระเบียบไม่เป็นที่อาศัยของสัตว์นำโรคต่างๆ ตรวจที่พักอาศัยและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยปิดภาชนะเก็บน้ำทุกชนิดให้มิดชิดอยู่เสมอ คว่ำโอ่งน้ำ และภาชนะที่ไม่ใช้งานหรือเก็บไว้ในที่ร่มและฝนไม่สาด หมั่นเก็บทําลายเศษวัสดุ ยางรถยนต์เก่า หากต้องการเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ต้องเก็บไว้ใต้ชายคา หรือหาสิ่งปกคลุม เพื่อป้องกันน้ำขัง สำหรับบ่อซีเมนต์ในห้องน้ำให้ใส่ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำ หรือใส่ปลาหางนกยูงเฉพาะตัวผู้ จำนวน 2-10 ตัว ตามขนาดบ่อ หรือหมั่นช้อนลูกน้ำทิ้ง เก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู แมลงวันและสัตว์อื่นๆ


ทิ้งขยะในภาชนะที่มีฝาปิด ระวังอย่าให้มีเศษอาหารตก หรือของเหลว จากอาหารหยดเรี่ยราดบนพื้น เพื่อป้องกันหนู แมลงวันและสัตว์อื่นๆ มารบกวน หากพบขยะ เศษอาหารต่างๆ ต้องเก็บไปทิ้ง หรือใช้น้ำฉีดทำความสะอาดทันที เพื่อกำจัดกลิ่นที่จะดึงดูดให้แมลงวันมาตอมและวางไข่ ซึ่งการที่จะป้องกันตนเองจากโรคต่างๆ คือต้องมีความรู้และปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการป้องกันโรค ซึ่งทำได้โดยรักษาอนามัยส่วนบุคคล รักษาบ้านและสถานที่ให้มีสุขาภิบาลที่ดี เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันภัยที่จะเป็นอันตรายได้เป็นอย่างดี

Shares:
QR Code :
QR Code