ป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ วันลอยกระทง

/data/content/26285/cms/e_glmouwx23579.jpg


          กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัย ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง หรือลงไปเก็บเงินในกระทง กรณีนั่งเรือไปลอยกระทงกลางลำน้ำ ไม่ควรลงไปในโป๊ะหรือเรือที่มีคนจำนวนมาก ควรรอเรือจอดเทียบท่าก่อนแล้วจึงขึ้นลงเรืออย่างเป็นระเบียบ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง


          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่เด็กไทยมีอัตราการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดในรอบปี โดยสถิติการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงปกติ ซึ่งกว่าร้อยละ 40 มีสาเหตุจากเด็กลงไปเก็บเงินในกระทง และพลัดตกน้ำจากการลอยกระทง เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำในเทศกาลวันลอยกระทง ดังนี้


          พาเด็กไปลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัย ท่าน้ำและโป๊ะเรือมั่นคงแข็งแรง ตลิ่งน้ำไม่สูงชัน เพื่อป้องกันการลื่นไถลพลัดตกน้ำ หลีกเลี่ยงการลอยกระทงบริเวณตลิ่งดิน เพราะเสี่ยงต่อการทรุดตัว ทำให้พลัดตกน้ำได้ ดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตา โดยเฉพาะเมื่อเด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือขอบสระ ไม่ควรให้เด็กนำกระทงไปลอยน้ำด้วยตนเอง รวมถึงควรจูงมือเด็กให้แน่นขณะเดินบริเวณริมน้ำ เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกน้ำ ดูแลมิให้เด็กลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง เพราะเด็กอาจถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำหรือเป็นตะคริวจากการอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้


          กรณีนั่งเรือไปลอยกระทงกลางลำน้ำ ไม่ควรลงไปในโป๊ะหรือเรือที่มีคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันโป๊ะล่มหรือถูกเบียดพลัดตกน้ำ ควรรอเรือจอดเทียบท่าก่อนแล้วจึงขึ้นลงเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่แย่งกันขึ้นลงเรือ เพราะขณะที่เรือจอดเทียบท่า คลื่นอาจซัดโป๊ะโคลงเคลง ทำให้เสียการทรงตัวพลัดตกน้ำได้


          ทั้งนี้ การเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติในการลอยกระทงอย่างปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง


 


 


          ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code