‘ป้องกันลูกจมน้ำ’ ง่ายๆ ด้วย 5 ทักษะ
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
วิดิโอประกอบ : 5 ข้อต้องสอน หยุดปัญหาเด็กจมน้ำ Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
การเล่นน้ำคงเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ หลายคน แต่ความสนุกสนานยังคงแฝงมากับอันตราย เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ เพียงเสี้ยววินาที
ข่าวของการพบ ‘เด็กจมน้ำเสียชีวิต’ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมี่อมองถึงทางออกของการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็ก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า “เพราะการขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำเกิน 4 นาที จะทำให้สมองตายก่อนเป็นอันดับแรก การส่งเสริมทักษะการเอาตัวรอดให้แก่เด็ก จะเป็นเกราะป้องกันให้แก่เด็กได้เมื่อเกิดเหตุ”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ได้หยิบยกตัวเลขที่น่าตกใจมาเล่าให้ฟังว่า จากสถิติการเสียชีวิตของเด็ก ๆ อันดับ 1 มาจากการจมน้ำ เพราะแค่จมน้ำเกิน 4 นาที ขาดอากาศหายใจทำให้สมองตายก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อดูเจาะลึกลงไปถึงช่วงอายุของเด็ก พบว่า กลุ่มเด็กโต (ประถม) มีสถิติจมน้ำมากกว่าเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กเล็กยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ โดยผลสำรวจการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กวัยเรียนกลุ่มอายุ 5-9 ปี ในปี 2558 พบว่า มีอัตราการตาย 6 ต่อ 100,000 คน
สำหรับจุดเสี่ยงต่อการเกิดเหตุได้แก่ แหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนใกล้บ้านเด็ก และแอ่งน้ำบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ชุมชน และสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ต่อความเสี่ยงของแหล่งน้ำ และไม่มีทักษะช่วยตนเองและผู้อื่นเมื่อตกน้ำ ขณะที่ผู้ปกครองก็มองว่าเป็นพื้นที่ไกล้บ้านจึงไม่ได้ระมัดระวัง ซึ่งเด็กในกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะเสี่ยงน้อยกว่า แต่การจมน้ำก็ยังคงคร่าชีวิตเด็กในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่เขตชานเมือง
ป้องกันจมน้ำด้วย 5 ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ
1. เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ สอนให้เด็กรู้ว่าแหล่งน้ำไหนเสี่ยง ไม่ควรไปวิ่งเล่นใกล้ๆ โดยอาจจะพาเด็กเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน และพาเขาไปดูว่าจุดไหนที่อันตราย และจุดไหนที่ปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเข้าใจ ในเหตุและผลได้แล้ว
2. ลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ เนื่องจากสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เด็กมักจะเล่นกันใกล้ฝั่งและพลาดตกลงไปในน้ำ แต่ไม่สามารถที่จะลอยตัวขึ้นมาเพื่อจะเข้าฝั่งได้ เพราะฉะนั้นถ้าลอยตัวได้ 3 นาที เด็กจะสามารถช่วยตัวเองได้
3. ว่ายได้ 15 เมตร นอกจากการลอยตัวให้ได้ 3 นาทีแล้ว เพื่อเป็นทักษะในการว่ายเข้าฝั่งหากพลัดตกลงไปในน้ำ
4. รู้อันตราย เด็กต้องรู้ว่า การกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจมน้ำนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย และยึดหลัก 3 ข้อ คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน ให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยน สิ่งของที่อยู่รอบตัว เช่น ถังน้ำ แกลลอน เพื่อให้เพื่อนเกาะและสามารถใช้ลอยตัวได้ ยื่น สิ่งยาวๆ ให้เพื่อนจับแล้วดึงเข้ามาใกล้ฝั่ง (โดยจุดที่เขายืนก็ต้องมั่นคงด้วย)
5. การใช้ชูชีพ เพื่อการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเรือชนิดใด จะว่ายน้ำเป็นไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น การฝึกให้เด็ก ใส่ – ถอด ชูชีพให้ถูกวิธี หัดลอยตัวเมื่อใส่ชูชีพให้ได้
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ล่าสุด สสส. และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัวฯ ได้ร่วมกันเปิด โครงการทักษะความปลอดภัยทางน้ำ Stop Drowning Start Doing โดยสนับสนุน 30 โรงเรียนนำร่องทั่วประเทศ นำ 5 ทักษะทางน้ำมาถ่ายทอดให้แก่เด็กนักเรียน ซึ่งในอนาคตหากสามารถขยายให้เรื่องของทักษะทางน้ำมีอยู่ในการเรียนการสอนทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก และเชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขความสูญเสียลดลงได้
ทั้งนี้ ผู้ปกครองเองก็สามารถนำ 5 ทักษะดังกล่าวมาสอนลูกด้วยตนเองได้ไม่ยาก เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันเหตุให้ “ลูกน้อย” ของคุณไม่ต้องตกอยู่ในอันตราย