ป้องกันภาวะตาเมื่อยล้าเมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
การนั่งจ้องหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ อาจทำให้เกิดการเมื่อยตา ตาล้า ซึ่งอาจแสดงเป็นอาการแสบตา คันตา ตาพร่ามัว ปวดตา ปวดศีรษะ ตาแห้ง กะพริบตาบ่อยๆ บางคนมีอาการรุนแรงจนทำงานต่อไปไม่ได้
ทั้งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งต้องทำงานปรับภาพให้ชัด อยู่ตลอด อีกทั้งตาต้องจ้องอยู่หน้าจอจนทำให้กะพริบน้อยลง ตาแห้งก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และถ้าเราเพ่งตาอยู่นานๆ จะเกิดภาวะสายตาสั้นเล็กน้อยชั่วคราว ถ้าเลิกเพ่งก็จะหายไป
ไหนๆ ยุคนี้ทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์กันแล้วมาป้องกัน มิให้เกิดภาวะตาเมื่อยล้าโดยการ
- จัดปัจจัยเกี่ยวกับจอคอมพิวเตอร์ และความสว่างในห้องให้ พอเหมาะ สบายตา
- ขจัดแสงจ้า (glare) ที่เกิดจากแสงจ้าจากหลอดไฟในห้อง หรือแสงจากหน้าต่างที่กระทบผิว มันแล้วสะท้อนเข้าตาเรา ตลอดจนแสงสะท้อนจากจอรับภาพอาจจะใช้ฟิล์มกรองแสงช่วย
- แสงกะพริบจากจอภาพต้องให้น้อยที่สุด
- จัดโต๊ะตั้งคอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับระดับตา ให้จอห่างจากตา 35-60 เซนติเมตรจากที่นั่ง ให้ตามองลง 15-20 องศา จากแนวราบมายังจอรับภาพ อย่าให้แหงนมองจอภาพเพราะท่าแหงนมองก่อให้เกิดเมื่อยตาได้มาก
- ไม่ควรจ้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลาติดๆ กันเกิน 2 ชั่วโมง มีคนศึกษาพบว่าถ้าผู้ใหญ่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ 3.5 ชั่วโมง จะเกิดอาการไม่สบายตาได้ร้อยละ 9 ถ้าเพิ่มเวลาทำงานจาก 3.5 ชั่วโมง เป็น 6 ชั่วโมง จะมีอาการไม่สบายตาถึงร้อยละ 45 (เวลาเพิ่มไม่ถึง 2 เท่า แต่มีคนมีอาการเพิ่มถึง 5 เท่า) ระยะเวลาที่เหมาะคือทำงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมงหยุดพักไปทำงานอื่น 15 นาที แล้วค่อยกลับมาทำใหม่
หลายๆ คนสงสัยกันว่า หน้าจอภาพมีรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมามากมาย จริงอยู่หากใช้เครื่องตรวจจะพบรังสีอัลตราไวโอเลต อินฟราเรด รังสีเอ็กซ์ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ เป็นต้น แต่มีจำนวนน้อยมากต่ำกว่าจำนวน ที่กำหนดไว้ในกรณีต้องสัมผัสตลอดเวลา จึงถือว่าไม่มีอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด