ป้องกันตัวอย่างไร เมื่อ “ไฟ+ควัน” มา
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นข่าวการเกิดอัคคีภัยร้ายแรงที่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก นำมาซึ่งความเศร้าโศกและสะเทือนใจไปทั่วโลก เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทยถ้ายังจำกันได้เหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นที่ “ซานติก้าผับ” มาแล้วเช่นกัน
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แนะนำแนวทางการปฏิบัติ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุไฟไหม้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนเยอะ อย่างเช่น ไนต์คลับ ผู้คนจะพากันแตกตื่นและออกจากพื้นที่โดยทางประตูที่เข้ามา ทำให้ส่วนใหญ่จะพบผู้เสียชีวิตในบริเวณประตูที่ใช้เป็นทั้งทางเข้าและทางออกนั่นเอง สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือ สังเกตประตูและป้ายทางออก ตั้งแต่เข้าไป หรือประตูที่ 2 นอกเหนือจากประตูเข้า-ออก ด้านหน้าอย่างเดียว ทุกที่ไม่ว่า จะเป็น โรงหนัง โรงละคร ห้องประชุม และต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินเสมอ การพกไฟฉายติดตัวไว้ จะเป็นไฟฉายขนาดเล็ก หรือไฟฉายพวงกุญแจ ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ไฟฟ้าจะดับตามมา ก็สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
นพ.ประจักษวิช แนะนำต่อว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากนั่นคือ การสำลักควันไฟ เนื่องจากควันที่เกิดขึ้นจะกระจายและลอยตัวสูง สิ่งที่ควรทำคือ การก้มตัวต่ำลงกับพื้น และหาผ้าชุบน้ำปิดจมูกไว้ หายใจผ่านผ้าชุบน้ำเพราะผ้าชุบน้ำจะช่วยกรองควันพิษไว้ได้ ส่วนกรณีที่เกิดไฟไหม้จากชั้นล่างขึ้นชั้นบน การหนีขึ้นที่สูงเพื่อขอความช่วยเหลือจากกู้ภัยหรืออาสาสมัคร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง
“สิ่งหนึ่งต้องระวังคือ ไฟไหม้ ที่เกิดจากการเผาไหม้เฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่จะเกิดควันพิษ ไม่ใช่แค่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่จะมีพวกซัลเฟอร์ หรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนทั้งหลายที่นอกจากจะทำให้ระคายเคือง แสบจมูกแล้วยังทำให้สำลักควันได้ง่ายอีกด้วย” นพ.ประจักษวิช กล่าวเตือน
นอกจากนี้ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย.จะมีสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่ายทั้งในพื้นที่ป่าและในเขตชุมชนเมือง ยิ่งใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน มีความจำเป็นอย่างมากที่ประชาชนต้องระมัดวังเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดไฟไหม้สูงนั่นเอง
นพ.ประจักษวิช บอกว่า เหตุการณ์ไฟไหม้มีรายงานการเกิดขึ้นทุกวัน และช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษอีกช่วงหนึ่งนั่นคือ เทศกาลตรุษจีน จากสถิติแล้วช่วงนี้เกิดเหตุไฟไหม้เยอะพอสมควร โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการจุดประทัด ธูป-เทียน และการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เป็นต้น จึงอยากเตือนประชาชนควรจุดประทัด หรือเผากระดาษอย่างระมัดวังห่างจากบริเวณที่มีวัสดุติดไฟได้ง่ายด้วย
“สำหรับการซ้อมดับไฟและหนีไฟ นับว่าเป็นอีกเรื่องที่จำเป็น เพราะมีข้อกำหนดซ้อมหนีไฟ ผู้ที่อยู่อาคารสำนักงานที่สูง 5 ชั้นขึ้นไป หรือน้อยกว่านี้ควรจะทำการซ้อมหนีไฟ โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ที่มีตรอกซอกซอยและการก่อตั้งอาคารไม่เป็นระเบียบ ทำให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดไฟไหม้เป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ การซ้อมแผนดับและหนีไฟจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ ไม่ใช่เรื่องตลก หรือน่าขบขัน” นพ.ประจักษวิชบอก
ที่สำคัญการป้องกันเหตุเพลิงไหม้สามารถทำได้โดยการไม่ประมาท นพ.ประจักษวิช จึงแนะนำวิธีการตรวจความพร้อมของอุปกรณ์ไฟฟ้าขั้นพื้นฐานอีกด้วย โดยสังเกตจากการใช้ไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าว่าเยอะเกินไปหรือไม่ รวมถึงการตรวจความพร้อมของสายไฟ โดยจับดูที่สายไฟว่าร้อนเกินไปหรือไม่ ถ้าสายไฟร้อน แสดงว่ามีโอกาสเกิดไฟไหม้สูง ก็ควรถอดปลั๊กออกเพื่อหยุดการใช้งานทันที
ไม่ยากเลยหากจะดูแลชีวิตและทรัพย์สินให้ปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายแรง และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย เมื่อเกิดเหตุการณ์อัคคีภัยขึ้นคือ “สติ” ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ควรควบคุมสติให้ดี เพื่อชีวิตของตนเองและคนรอบข้างนะค่ะ
เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th