ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้อย่างไร

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ ข้อมูลจาก ศ.คลินิก นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 


ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้อย่างไร thaihealth


การรักษาโรคเบาหวานก็เพื่อที่จะลดการเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมี 2 ชนิด คือโรคแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน และโรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง


โรคแทรกซ้อนของเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เป็นเบาหวานทุพพล ภาพหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของผู้เป็นเบาหวานอย่างมหาศาล การรักษาโรคเบาหวานก็เพื่อที่จะลดการเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมี 2 ชนิด คือโรคแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำมากจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน และโรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไปโดยอาจไม่มีอาการในระยะแรก บทความนี้จะกล่าวเฉพาะโรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรังซึ่งพบได้บ่อยกว่า


ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน ๆ จะก่อให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดเลือดทั่วร่างกาย หลอดเลือดที่เกิดพยาธิสภาพจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือหลอดเลือดขนาดเล็ก ๆ ได้แก่ หลอดเลือดของจอรับภาพของตา เป็นผลให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตาบอด และหลอดเลือดฝอยของไตเป็นผลให้เกิดภาวะเบาหวานลงไต ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดไตวาย อีกกลุ่มคือหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่กว่า ได้แก่ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เป็นผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เป็นผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรืออัมพาต และหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปลายเท้าตีบตันเป็นผลให้เกิดแผลที่เท้าตามมา


จะป้องกันการเกิดเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไตได้อย่างไร


โรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไตเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบเฉพาะผู้เป็นเบาหวาน ดังนั้นถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมือนคนปกติก็จะไม่เกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าว ในความเป็นจริงเป็นไปได้ยากมากที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้เป็นเบาหวานให้เหมือนคนปกติโดยเฉพาะในผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน ๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดจากการรักษา ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่คนไข้ได้ ดังนั้นเป้าหมายการควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไตก็จะขึ้นกับอายุ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ตลอดจนโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะแนะนำให้ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 7% นอกจากนี้การควบคุมความดันโลหิตก็จะมีส่วนอย่างมากในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไต โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้ความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 130 มม.ปรอท และความดันโลหิตตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท ในกรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานเกิดเบาหวานลงไตระยะหลัง ๆ เช่นการทำงานของไตเสื่อม พบว่าการควบคุมระดับความดันโลหิตอย่างเข้มงวดจะมีประโยชน์ มากกว่าการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ใน ผู้ป่วยเบาหวานที่มีไข่ขาวรั่วออก มาในปัสสาวะ การใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting enzyme inhibitors) หรือ ARB (angiotensin receptor blockers) จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ การใช้ยากลุ่มนี้ก็ควรต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์


เนื่องจากในระยะแรกของโรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไต ผู้เป็นเบาหวานจะไม่มีอาการผิดปกติ การตรวจค้นหาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจะทำให้เริ่มการรักษาได้เร็ว ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นมากตามมา ผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจจอรับภาพของตา ตรวจปัสสาวะดูระดับไข่ขาวและตรวจเลือดดูการทำงานของไตปีละหนึ่งครั้งในกรณีที่ยังไม่เคยตรวจพบความผิดปกติมาก่อน และควรตรวจให้บ่อยขึ้นถ้าตรวจพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว


จะป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร


โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบตันสามารถพบได้ในคนที่ไม่เป็นเบาหวาน แต่ผู้เป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้มากกว่าถึง 2-3 เท่า เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น การป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวต้องอาศัยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างดังกล่าวร่วมกันคือ ควบคุมระดับไขมัน LDL คอเลสเตอรอลให้ได้น้อยกว่า 100 มก./ดล. โดยรับประทานยาในกลุ่ม statin ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ไม่เกิน 130/80 มม.ปรอท หยุดสูบบุหรี่ ควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) ไม่ให้เกิน 7.0 หรือ7.5% และในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรค เช่น อายุมากและมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง อาจจะพิจารณาให้รับประทานยา aspirin ขนาด 81 มก. เพื่อป้องกันการเกิดโรคร่วมด้วย


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code