ป่วย-ตายไข้เลือดออกพุ่ง กำชับหมอเด็กเฝ้าระวัง และควบคุม
ป่วย-ตายไข้เลือดออกพุ่งต่อเนื่องกว่า 5, 000 คน/สัปดาห์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กำชับหมอเด็กเฝ้าระวัง ควบคุมสิ่งแวดล้อมรายครัวเรือนตามแนวทาง who พบสาธารณสุข กทม ยังเข้มแข็งรายงานผู้ป่วยวันละ 2 รอบ-ฉีดยาควบคุมยุงรอบบ้านผู้ป่วยใน 24 ชม. “รพ.รามา-สสส.” หนุนพลังเด็ก อุดช่องโหว่ต่อสู้ภัยไข้เลือดออก นำร่อง 7 ชุมชนในเขตราชเทวี เน้นเดินเท้าตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงทุกบ้าน
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานอนุกรรมการป้องกันโรคและอุบัติเหตุ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดกิจกรรม “ชุมชนปลอดภัย รวมพลังเยาวชน สู้ภัยไข้เลือดออก” มีแกนนำเด็ก เยาวชนจาก 7 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสวนเงิน, เพชรบุรีซอย 7, ซอยแดงบุหงา, โค้งรถไฟยมราช, หลังกรมทางหลวง, กองพล 1 และบ้านครัวเหนือ เข้าร่วมกว่า 150 คน เพื่อแสดงพลังเด็กในการทำความดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการต่อสู้ไข้เลือดออก จากเพื่อนสู่เพื่อน และสร้างกำลังใจให้แก่กันในการป้องกันไข้เลือดออก
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้กุมารแพทย์ทั่วประเทศเฝ้าระวังไข้เลือดออกและควบคุมสภาพแวดล้อมโดยความร่วมมือของชุมชนตามแนวทางองค์การอนามัยโลก (integrated vector management for control of dengue) เพราะแม้สถานการณ์ไข้เลือดออกจะเริ่มชะลอตัว แต่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสัปดาห์ละกว่า 5,000 คน และยังคงมีผู้เสียชีวิตทุกสัปดาห์ พบว่ากระทรวงสาธารณสุข และกทม ยังเข้มแข็ง มีมาตรการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออกอย่างเต็มที่ ทั้งแพทย์ พยาบาล อสม อสส ในกทม มีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของเขตติดตามการรายงานข้อมูลผู้ป่วยจากสถานพยาบาลต่าง ๆ 2 รอบต่อวัน เพื่อที่จะเข้าไปฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงในชุมชนที่พบผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะในชุมชนแออัด เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการให้หมดได้ ดังนั้น พลังชุมชน เด็ก และเยาวชนจึงมีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่การควบคุมสิ่งแวดล้อมทุกบ้านทุกจุดในชุมชน
“ที่เขตราชเทวี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีได้ดำเนินโครงการชุมชน เด็ก เยาวชนร่วมใจ ต่อสู้ภัยไข้เลือดออก โดยชุมชนที่มีสภาพการอยู่อาศัยหนาแน่น 7 แห่ง รอบโรงพยาบาล ได้ร่วมใจกันสำรวจบ้านตนเองและบริเวณรอบบ้าน กำจัดลูกน้ำยุงลาย เฝ้าระวังการป่วย และรายงานหัวหน้าชุมชน นอกจากนั้น ชุมชนทั้ง 7 แห่งยังได้จัดตั้งอาสาสาสมัครเด็กและเยาวชนเดินเท้าเยี่ยมทุกบ้าน ตรวจสอบแหล่งน้ำในครัวเรือนที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อกระตุ้นเตือน ยกระดับความสำคัญ สร้างความสนใจให้แต่ละบ้านตื่นตัว ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางสมบุญ แตงน้อย ประธานชมรมโค้งรถไฟยมราช 1 ใน 7 ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม “ชุมชนปลอดภัย รวมพลังเยาวชน สู้ภัยไข้เลือดออก” กล่าวว่า ชุมชนมีแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่มาก ทำให้คนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กเป็นโรคไข้เลือดออก แต่เมื่อเริ่มรณรงค์การป้องกันไข้เลือดออกอย่างจริงจังตั้งแต่ ก.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคก็ดีขึ้น ไม่มีคนในชุมชนเป็นไข้เลือดออกอีก ซึ่งต้องขอบคุณคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกำลังหลักของการรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกเป็นอย่างดี ตั้งแต่การให้ความรู้ เดินแจกทรายอะเบทกำจัดยุงตามบ้านต่าง ๆ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ติดป้าย แจกโปสเตอร์ และมีเสียงตามสายรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคไข้เลือดออก หากบ้านใดมีคนในบ้านไม่สบาย ก็ให้รีบมาแจ้งที่ประธาน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับรักษาอย่างทันท่วงที
ที่มา : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย